สำหรับคนที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ นอกจากจะต้องมีความรอบรู้ในเรื่องของกิจการที่ทำแล้ว ความรู้อื่น ๆ ที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่สอบตกตั้งแต่เริ่มกิจการก็คือ ต้องรู้ว่ากิจการของคุณเป็นกิจการประเภทไหน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน เพราะทั้งสองอย่างมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายแตกต่างกัน ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการควรรู้เกี่ยวกับการเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนั้น จะมีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง เราลองมาติดตามกัน….
เปรียบเทียบ บริษัทจำกัด กับ ห้างหุ้นส่วน แตกต่างกันอย่างไรและแบบไหนดีกว่ากัน
หนึ่งในคำถามยอดฮิตที่มักจะได้ยินอยู่เสมอสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ นั่นก็คือ ระหว่างห้างหุ้นส่วนกับบริษัทจำกัดนั้น การเปิดกิจการแบบไหนดีกว่ากันและมีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าการเปิดกิจการทั้งสองแบบนั้นดีและมีประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ แต่การเปิดกิจการทั้งสองแบบนี้ ย่อมมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง เราลองมาเปรียบเทียบกิจการทั้งสองแบบนี้กันดูว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
จำนวนผู้ร่วมลงทุน: การเปิดกิจการในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนนั้น จะต้องมีผู้ร่วมลงทุนหรือหุ้นส่วนอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป ส่วนในแบบของบริษัทนั้น จะต้องมีผู้ร่วมลงทุนหรือหุ้นส่วนอย่างน้อย 3 คน
รูปแบบของการลงทุน: การเปิดกิจการในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนนั้น สามารถลงทุนด้วย เงิน, ทรัพย์สิน และแรงงาน เป็นทุนจดทะเบียนได้ ส่วนในแบบของบริษัทนั้น จะต้องเป็นการลงทุนด้วยเงินเท่านั้น โดยผู้ร่วมลงทุนจะต้องแบ่งเงินออกเป็นหุ้น (Capital Stock) ซึ่งแต่ละหุ้นจะต้องมีมูลค่าเท่า ๆ กัน
การแบ่งผลกำไรของบริษัทให้ผู้ร่วมลงทุน : การเปิดกิจการในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนนั้น จะมีการแบ่งผลกำไรตามอัตราส่วนที่หุ้นส่วนแต่ละคนเอาเงินมาลงทุน ส่วนในรูปแบบของบริษัทจำกัดนั้น จะมีการจัดสรรผลกำไรในรูปแบบของเงินปันผล ตามจำนวนหุ้นที่หุ้นส่วนแต่ละคนถืออยู่
ความรับผิดชอบต่อหนี้สิน : การเปิดกิจการในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนนั้น คนที่เป็นหุ้นส่วน แบบไม่จำกัดความรับผิดชอบนั้น จะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อหนี้สินอย่างไม่จำกัดจำนวน ส่วนคนที่เป็นหุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดชอบจะรับผิดชอบไม่เกินเงินที่ตัวเองเอามาลงทุนในห้างหุ้นส่วน ซึ่งแตกต่างจากบริษัทจำกัดที่หุ้นส่วนแต่ละคนจะรับผิดชอบไม่เกินเงินที่ตัวเองเอามาลงทุนในหุ้นเท่านั้น
ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนบริษัท : ห้างหุ้นส่วนจะเสียค่าธรรมเนียมในการจัดตั้งกิจการเพียง 1000 บาทเท่านั้น ในขณะที่บริษัทจำกัด จะเสียค่าธรรมเนียมในการจัดตั้งกิจการถึง 5000 บาทเลยทีเดียว
หน้าที่ของ บริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วน ในการจัดทำบัญชี
บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด มีหน้าที่ในการจัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ดังนี้
- จัดทำบัญชีรายวัน, บัญชีแยกประเภท, บัญชีสินค้า และบัญชีประเภทอื่นๆ ตามที่กฎหมายระบุ โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วน
- บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจะต้องมีผู้จัดทำบัญชีอย่างน้อย1 คน ที่คอยมาดูแลและรับผิดชอบงานบัญชีของกิจการ ซึ่งอาจจะเป็นพนักงานประจำที่มีคุณสมบัติครบถ้วน หรือสำนักงานบัญชีที่เข้ามาดูแลในเรื่องของการวางระบบบัญชี, การวางแผนบัญชี และการวางแผนภาษีให้แก่กิจการ
- ส่งเอกสารที่ใช้เป็นข้อมูลในการลงบัญชีให้แก่ผู้จัดทำบัญชี เพื่อให้ผู้จัดทำบัญชีเอาไปทำรายงานแสดงผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินของกิจการ เช่น งบดุล, งบกำไรขาดทุน, งบกระแสเงินสด เป็นต้น ซึ่งเอกสารเหล่านี้สามารถเอาไปใช้ตัดสินใจในการวางแผนธุรกิจได้อีกด้วย
- จัดทำงบการเงินอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุกรอบ 12 เดือน ซึ่งประกอบด้วย งบกำไรขาดทุน, งบแสดงฐานะทางการเงิน, หมายเหตุประกอบงบการเงิน และงบการเงินเปรียบเทียบปีก่อน
- บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจะต้องปิดบัญชีครั้งแรกให้ได้ภายใน 12 เดือน นับตั้งแต่วันเริ่มทำบัญชี และปิดบัญชีครั้งต่อไปทุกรอบ 12 เดือน นับแต่วันปิดบัญชีครั้งก่อน
- ส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หลังจากที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยและแสดงความเห็นลงในงบการเงินแล้ว ภายใน 5 เดือนนับแต่วันปิดบัญชี
- เก็บเอกสารทางบัญชีไว้ที่สำนักงานของกิจการและจะต้องเก็บรักษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
ในตอนนี้ผู้ประกอบการคงจะพอเห็นภาพคร่าว ๆ กันแล้วว่าจะต้องทำอะไรกันบ้าง เมื่อเปิดกิจการในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด และเพื่อให้เข้าใจแนวทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการสามารถติดต่อสอบถามกับเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือลองเข้ามาสอบถามกับทีมงานที่ปรึกษาบัญชีของ Scholar Accounting กันดูก่อน รับรองว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน