คณะบุคคล… อีกหน่วยภาษี ที่ไม่ควรมองข้าม
การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดหน่วยภาษีที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้จำนวน 4 หน่วย อันได้แก่ บุคคลธรรมดาผู้ถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง และคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบของคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล จะช่วยให้กิจการมีเงินลงทุนมากขึ้น และในแง่ของการตัดสินใจจะรอบคอบมากกว่าการดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาคนเดียว เพราะมีการร่วมกันตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกิดจากการดำเนินงานของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน รวมทั้งจะต้องรับผิดชอบร่วมกันในหนี้สินทั้งหมดของกิจการโดยไม่จำกัดจำนวนหนี้สินนั้นอีกด้วย เรื่องจากปกฉบับนี้จึงได้นำเสนอภาระหน้าที่การเสียภาษีของคณะบุคคลและแนวคำวินิจฉัยที่น่าสนใจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างรอบด้านในการเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง
ภาระภาษี
1. ความหมายของ “คณะบุคคล”
ในทางทฤษฎีภาษีอากร จะพบว่าประมวลรัษฎากรมิได้ให้คำนิยามของคำว่าคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น จึงต้องใช้ความหมายโดยเทียบเคียงจากคำว่าห้างหุ้นส่วนสามัญตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่วางหลักไว้ว่าห้าง หุ้นส่วน คือ บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แก่กิจการที่ทำนั้น เมื่อคณะบุคคลเป็นหน่วยภาษีที่กำหนดขึ้นตามประมวลรัษฎากรเพื่อให้ครอบคลุมการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงอาจให้คำนิยามได้ว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล” หมายถึง บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปได้ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แก่กิจการที่ทำนั้น ส่วน “คณะบุคคล” หมายถึง บุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคน ขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน แต่ไม่มีวัตถุประสงค์จะแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากกิจการที่ทำนั้น
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติมักจะพบว่า การให้ความหมายคำว่าห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล และคำว่าคณะบุคคล จะมีทิศทางที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันโดยมิได้แยกความแตกต่างกันที่วัตถุประสงค์การแบ่งปันกำไรดังได้กล่าวข้างต้น ซึ่งการให้ความหมายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันดังกล่าวก็มิได้ทำให้ผล ของการชำระภาษีเปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใด เพราะไม่ว่าจะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือจะเป็นคณะบุคคลก็จะมีหน้าที่ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียวกัน และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีเงินได้ที่ได้รับ ก็จะเป็นเลขเดียวกัน
ปัญหาบางประการเกี่ยวกับคณะบุคคลที่ควรได้ทำความเข้าใจคือ การรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งคณะบุคคลมีข้อจำกัดหรือไม่ ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอดังนี้
ก. นิติบุคคลสามารถร่วมกับบุคคลธรรมดาจัดตั้งคณะบุคคลได้หรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่า การจัดตั้งคณะบุคคลจะต้องเป็นการรวมตัวกันระหว่างบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป นิติบุคคลไม่อาจมาจัดตั้งคณะบุคคลร่วมกับบุคคลธรรมดาได้ เนื่องจากหากมีนิติบุคคลมาร่วมจัดตั้งด้วยแล้ว ฐานะของการร่วมทุนจะเปลี่ยนไปเป็นกิจการร่วมค้าทันที
ข. สามีภริยาจะร่วมกันจัดตั้งเป็นคณะบุคคลได้หรือไม่ ในประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่า ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ถือว่าเงินได้ของภริยาให้เป็นเงินได้ของสามีในกรณีที่ความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษีดังนั้น สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่อาจจัดตั้งเป็นคณะบุคคลได้โดยปริยาย แต่อย่างไรก็ดี หากเป็นการจัดตั้งคณะบุคคลที่ประกอบด้วยสามี ภริยา และบุตร แล้วก็ไม่ถือว่ากรณีมีข้อจำกัดแต่ประการใด
2. การขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
คณะบุคคลจะต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้พึงประเมินโดยใช้แบบ ล.ป.10.2 ยื่นต่อสำนักงานสรรพากรดังนี้
ก. ในกรุงเทพมหานครให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เขต) ที่ผู้ยื่นคำร้องมีภูมิลำเนาอยู่
ข. ในจังหวัดอื่นให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (อำเภอ) ที่ผู้ยื่นคำร้องมี ภูมิลำเนาอยู่กรณีผู้เสียภาษีอากรที่เป็นบุคคลธรรมดา ไม่สะดวกที่จะยื่นคำร้อง ณ สถานที่ ดังกล่าวข้างต้น จะยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแห่งใดแห่งหนึ่งในท้องที่ของจังหวัดที่มีภูมิลำเนาอยู่หรือ จะยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแห่งใดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครก็ได้
ทั้งนี้ คณะบุคคลจะต้องแนบเอกสารดัง ต่อไปนี้ไปพร้อมกับแบบคำร้องการขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรประเภทคณะบุคคล (แนบพร้อมกับแบบ ล.ป.10.2)
ก. กรณีขอมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ได้แก่
(1) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน/ใบสำคัญคนต่างด้าว/หนังสือเดินทางของผู้มีอำนาจจัดการและผู้ร่วมคณะทุกคน
(2) ภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านของที่ตั้งสถานประกอบการ
(3) ภาพถ่ายสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงในการจัดตั้งคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ (ถ้ามี)
ข. กรณีขอแก้ไขรายละเอียดผู้เสียภาษีอากร ได้แก่
(1) ภาพถ่ายหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ ที่อยู่ของคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ
(2) บัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ฉบับเดิม
ค. กรณีบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรชำรุดหรือสูญหาย ได้แก่
(1) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน/ ใบสำคัญคนต่างด้าว/หนังสือเดินทางของผู้มีอำนาจจัดการ
(2) บัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรฉบับเดิม (ถ้ามี)
ง. กรณีขอคืนบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ได้แก่
(1) ภาพถ่ายหนังสือที่แสดงว่าคณะบุคคลเลิกประกอบกิจการ
(2) บัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่คืน
3. การคำนวณภาษีเงินได้
คณะบุคคลมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียว กับบุคคลธรรมดาทั่วไป โดยถือเป็นหน่วยภาษีอีกหน่วยหนึ่งแยกต่างหากไปจากบุคคลที่อยู่ในคณะบุคคลนั้นๆ โดยมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้บัญญัติไว้ดังนี้
“ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกินจำนวนตาม (1) ให้ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อของห้างหุ้นส่วน หรือคณะบุคคลนั้นที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วภายในกำหนดเวลาและตามแบบเช่นเดียวกับวรรคก่อน การเสียภาษีในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการรับผิดเสียภาษีในชื่อของห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้นจากยอดเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้นเสมือนเป็นบุคคลคนเดียวไม่มีการแบ่งแยก ทั้งนี้ ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคน ไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเพื่อเสียภาษีอีก แต่ถ้าห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้นมีภาษีค้างชำระให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลทุกคนร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชำระนั้นด้วย”
นอกจาก “คณะบุคคล” จะมีหน้าที่เสียภาษีเสมือนหนึ่งเป็นบุคคลที่แยกออกจากบุคคลธรรมดาทั่วไปแล้ว เมื่อประกอบธุรกิจมีผลกำไร ในแต่ละปี แล้วนำกำไรของคณะบุคคลมาแบ่งให้กับบุคคลที่อยู่ในคณะบุคคล ส่วนแบ่งกำไร ดังกล่าวก็ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (14) เงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ บุคคลที่อยู่ในคณะบุคคลไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากการแบ่งกำไรจากคณะบุคคลไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้
“(14) เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ แต่ไม่รวมถึงเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวม”
4. การคำนวณหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน
คณะบุคคลมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ พึงประเมินประเภทต่างๆ ที่ได้รับเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา แต่สำหรับการหักค่าลดหย่อนคณะบุคคลสามารถหักค่าลดหย่อนตามจำนวนบุคคลที่เป็นบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนซึ่ง เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยได้คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท เท่านั้น คณะบุคคลจะหักลดหย่อนประเภทอื่นๆ เช่นการหัก ลดหย่อนคู่สมรส การหักลดหย่อนบุตร การหัก ลดหย่อนเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต การหักลดหย่อนเงินที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย ดังเช่นที่บุคคลธรรมดามีสิทธิไม่ได้
5. การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เงินได้พึงประเมินภายหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว (หรือเงินได้สุทธิ) คณะบุคคลจะต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้า (Progressive Rate)
ที่มา :-
http://www.sanpakornsarn.com/page_article_detail.php?aID=19
ห้างหุ้นส่วนสามัญตามประมวลกฏหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 1012,1025,1026
มาตรา 1012 อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากัน เพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์ จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น
มาตรา 1025 อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภท ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกัน เพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วน โดยไม่มีจำกัด
มาตรา 1026 ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน
สิ่งที่นำมาลงด้วยนั้น จะเป็นเงินหรือทรัพย์สินสิ่งอื่นหรือลงแรงงานก็ได้
ที่มา :-
http://www.kodmhai.com/m2/m2-4/m4-1012-1024.html