พ.ร.บ. การจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว

ร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งนิติ บุคคลเดียว พ.ศ….2560

เพราะนี่ถือเป็นการพลิกโฉมหน้าวงการธุรกิจเมืองไทยอย่างมาก เพราะในอนาคตการจัดตั้ง “บริษัท” จะง่ายขึ้น

จากเดิมที่ต้องใช้บุคคล 3 คนขึ้นไปในการจดทะเบียนเหลือเพียงคนเดียว จึงตัดปัญหายุ่งยากในอดีตหากคนที่ต้องการตั้งบริษัทเพียงลำพังต้องหาคนมาร่วมจัดตั้งบริษัท ซึ่งต้องรับผิดชอบหรือวุ่นวายเซ็นเอกสารต่างๆ ส่วนใหญ่จะหาญาติพี่น้องที่สนิทๆ กันมาถือคนละหุ้นเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย

จากข้อมูลจากการจดทะเบียน 400,000 บริษัท พบว่าในแต่ละบริษัทมีผู้ถือหุ้นคนเดียวถือหุ้นเกินกว่า 50% ของทั้งบริษัท มากถึง 98% ของบริษัทที่จดทะเบียนทั้งหมด

ในจำนวนนี้บริษัทมีผู้ถือหุ้นคนเดียวถือหุ้นเกินกว่า 90% ของทั้งบริษัท มากถึง 82%

ด้วยความยุ่งยากนี้เองทำให้กิจการเล็กๆ เลี่ยงที่จะจดทะเบียนเปิดบริษัท

กระทรวงพาณิชย์ที่รับผิดชอบเรื่องนี้จึงพยายามผลักดัน “พ.ร.บ.การจัดตั้งนิติบุคคลเดียว” เพื่อให้ออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ รวมทั้งยังช่วยลดขั้นตอนของการจดทะเบียน และป้องกันปัญหาการตั้งผู้ถือหุ้นปลอม หรือนอมินีขึ้น

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ ระบุว่าร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งนิติบุคคลเดียว พ.ศ… เป็นการผลักดันของกระทรวงพาณิชย์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเดิมกำหนดต้องใช้บุคคล 3 คนขึ้นไปในการจดทะเบียน เป็นสามารถจดได้เพียงคนเดียว สอดคล้องกับสภาพของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี) แม้ว่าจะใช้บุคคลจดทะเบียน 3 คน แต่ความเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ก็มีเพียงคนเดียวอยู่แล้ว

ส่วนที่เหลืออาจว่าจ้างหรือถือหุ้นเพียงในนามเท่านั้น หรือบางคนก็อาจเป็นเจ้าของร่วมกันเมื่อกิจการเติบโตก็อาจมีปัญหาความขัดแย้งภายหลัง ดังนั้น การที่กำหนดให้สามารถจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลได้เพียงคนเดียวจะทำให้เอกชนมีความคล่องตัวมากขึ้นในการประกอบธุรกิจ

ภาครัฐเองก็สามารถตรวจสอบได้ง่ายว่าใครเป็นเจ้าของบริษัทที่แท้จริงเพราะมีเพียงคนเดียว ส่งผลให้ขีดความสามารถแข่งขันด้านการประกอบธุรกิจไทยเพิ่มมากขึ้น

สําหรับร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งนิติบุคคลเดียว พ.ศ….. ถูกผลักดันอย่างเข้มข้นสมัยที่ น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ เป็นอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จนกระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2559 เกี่ยวกับมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล เช่น การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ

นอกจากนี้ วันที่ 8 ก.ย. 2559 มีมติครม.เกี่ยวกับ “มาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่อยู่ในระบบให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น” บวกกับแนวคิด “Think Small First” ของอดีตอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ต้องการให้มาตรฐานทางกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรธุรกิจและการดำเนินการจดทะเบียนที่ไม่ยุ่งยากเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย

โดยคำนึงถึงสภาพปัญหาเนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เดิมว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทได้กำหนดให้มีผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจำกัดและผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดมีจำนวนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป บุคคลธรรมดาหนึ่งคนไม่สามารถจดทะเบียนในรูปของนิติบุคคลได้
เพื่อให้กฎหมายเอื้อต่อแนวคิด Think Small First และนโยบายของรัฐบาล จึงได้ผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวขึ้น

ประโยชน์ของการมีบริษัทจำกัดคนเดียว ทำให้เอกชนสามารถเข้าสู่ระบบจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายได้มากขึ้นและง่ายขึ้น มีความชัดเจนในการหาคนรับผิดชอบปัญหาต่างๆ ในบริษัท ลดปัญหาการเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้น ลดต้นทุนในการจัดตั้งบริษัท ยกระดับมาตรฐานการจัดตั้งบริษัทให้เป็นไปตามรูปแบบของสากลได้รับประโยชน์จากมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล

จากนี้ไปก็อยู่ในขั้นตอนส่งต่อไปยังกฤษฎีกาเพื่อกำหนดรายละเอียดต่างๆ เช่น อายุของผู้ที่จะจดทะเบียน อัตราค่าธรรมเนียม เป็นต้น

เนื้อหากฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญคือกฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 9 หมวด 64 มาตรา

ประกอบด้วยหมวด 1 บททั่วไป(มาตรา 4-8) กำหนดเกี่ยวกับความเป็นนิติบุคคลของบริษัทที่จัดตั้งโดยบุคคลคนเดียวและสิ่งที่บริษัทต้องปฏิบัติ อาทิ การจัดให้มีป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ การแสดงชื่อที่ตั้งสำนักงานและเลขทะเบียนบริษัทไว้ในจดหมาย ประกาศ ใบส่งของและใบเสร็จรับเงิน

หมวด 2 การจัดตั้งบริษัท(มาตรา 9-16) กำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของเจ้าของบริษัท วิธีการในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโดยบุคคลคนเดียว ข้อบังคับของบริษัท และการจัดตั้งสำนักงานสาขา

หมวด 3 การบริหารจัดการ(มาตรา 17-27) กำหนดให้เจ้าของบริษัทอาจแต่งตั้งตนเองหรือบุคคลอื่นตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปเป็นกรรมการเพื่อบริหารจัดการตามข้อบังคับบริษัทและอยู่ในความครอบงำของเจ้าของบริษัท กำหนดคุณสมบัติของกรรมการ การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการและการดำเนินกิจการของกรรมการ อาทิ การบัญชี การจัดให้มีผู้ทำบัญชีและงบการเงิน

หมวด 4 การจ่ายเงินปันผล(มาตรา 28-30) กำหนดให้การจ่ายเงินปันผลต้องจ่ายจากเงินกำไรเท่านั้น กรณีบริษัทมียอดขาดทุนสะสมอยู่ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลและต้องจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของกำไรสุทธิประจำปีจนกว่าทุนสำรองนี้จะมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของทุนจดทะเบียน

หมวด 5 การเพิ่มทุนและการลดทุน (มาตรา 31-32) กำหนดให้บริษัทอาจเพิ่มทุนหรือลดทุนของบริษัทจากจำนวนที่จดทะเบียนไว้แล้วได้ด้วยความเห็นชอบของเจ้าของบริษัท แต่จะลดทุนต่ำกว่าจำนวนหนึ่งในสี่ของทุนทั้งหมดไม่ได้ และกำหนดขั้นตอนวิธีการที่บริษัทต้องปฏิบัติก่อนการดำเนินการลดทุน

หมวด 6 การแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด(มาตรา 33-37) กำหนดวิธีการการแปรสภาพจากบริษัทจำกัด(คนเดียว) เป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท

หมวด 7 การเลิกบริษัท(มาตรา 38-42) กำหนดเหตุในการเลิกบริษัท การตั้งผู้ชำระบัญชี การจดทะเบียนเลิกและชำระบัญชี

หมวด 8 การถอนทะเบียนร้าง(มาตรา 43-46) กำหนดเหตุและขั้นตอนในการถอนทะเบียนร้าง

หมวด 9 บทกำหนดโทษ(มาตรา 47-64) กำหนดลักษณะการกระทำเป็นผู้ช่วยเหลือ สนับสนุน มีอำนาจครอบงำ มีอำนาจควบคุมแทนคนต่างด้าว ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รวมถึงผู้ยินยอมด้วยกำหนดโทษทางแพ่งและบทกำหนดโทษทางอาญาที่กระทำหรืองดเว้นกระทำการตามร่างพระราชบัญญัติอัตราค่าธรรมเนียม กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการดำเนินการทางทะเบียนของบริษัทจำกัดคนเดียว

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ให้ความเห็นถึงการอนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งนิติบุคคลเดียวว่า ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ทุกอย่างเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง การจัดเก็บภาษีของรัฐก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนเดินหน้าได้อย่างไม่มีปัญหา และการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนั้นก็เสียภาษีน้อยกว่าด้วย ถือเป็นประโยชน์อย่างมากกับภาคเอกชน

“อนาคตเมื่อผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ในระบบก็จะทำธุรกิจได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องเหนื่อยเรื่องอื่นๆ ที่จะทำให้ถูกกฎหมาย ไม่ต้องยุ่งยากวุ่นวาย เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับภาคเอกชนอย่างมาก เพราะเมื่อเข้ามาในระบบนิติบุคคลจะเสียภาษีต่ำ ซึ่งภาครัฐไม่ได้หวังจะเก็บภาษีได้มาก แต่ต้องการให้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้องมากขึ้น”

พ.ร.บ.การจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว ถือเป็นการ “ปฏิวัติ” วงการธุรกิจและการจัดตั้งบริษัทของเมืองไทย เชื่อว่าหากพ.ร.บ.ดังกล่าวออกมาใช้จะทำให้มีบริษัทเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก

ข้อดี การจดทะเบียนบริษัทคนเดียว

1.SMEs และ Startup มีความสะดวกสบายในการลงทุนจัดตั้งธุรกิจ เข้าสู่ระบบได้ง่ายขึ้น

2.ลดปัญหาการทะเลาะและข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันเอง

3.เมื่อจดทะเบียนนิติบุคคลได้ง่ายขึ้น ก็จะช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

4.มีอำนาจในการตัดสินใจทางธุรกิจอย่างเต็มที่ เพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกิจ

5.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจดทะเบียนและจัดตั้งธุรกิจต่ำ

6.เพิ่มความน่าเชื่อถือ และยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับ SMEs

ข้อเสีย การจดทะเบียนบริษัทคนเดียว

1.ค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงเงินลงทุนมีจำนวนจำกัดจากเงินลงทุนส่วนตัวของเจ้าของกิจการ

2.ความรับผิดชอบต่อหนี้สินของกิจการ เจ้าหนี้สามารถตามยึดทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าของกิจการได้ แม้มิใช่ทรัพย์สินที่ลงทุนในกิจการ

3.การเลิกกิจการทำได้ยาก ต้องมีการชำระบัญชี และจัดการให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย

4.ระดมทุนได้ยาก เพราะการจดทะเบียนบริษัทคนเดียว อาจมีผู้ถือหุ้นคนเดียว ไม่มีผู้ถือหุ้นคนอื่นเลย

5.เมื่อคนเดียวจัดตั้งบริษัททำได้ จะทำให้ธุรกิจที่ไม่มีมาตรฐานเข้าสู่ระบบมากขึ้น เมื่อบริหารล้มเหลว ก็อาจส่งผลต่อภาพรวม ของเศรษฐกิจ เพราะไม่สามารถใช้หนี้คืนแก่ธนาคารได้

ที่มา : ข่าวสด