แผนธุรกิจ เป็นเอกสารซึ่งแสดงถึงข้อมูลและรายละเอียดของธุรกิจ รวมถึงวิธีการและกระบวนการของธุรกิจทุกด้าน ที่ได้ผ่านการวางแผนตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของธุรกิจ และแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่้เกิดขึ้นจากวิธีการและกระบวนการของธุรกิจที่ได้กำหนดไว้
ประเภทของการจัดทำแผนงานในธุรกิจ
- Feasibility Study
- Marketing Plan
- Strategic Plan
- Business Plan
การแบ่งแผนธุรกิจตามประเภทธุรกิจ
- Manufacturing Business
- Service Business
- Retail Business
- Project-based Business
- Technology Business
วัตถุประสงค์ในการจัดทำแผนธุรกิจ
1.การเริ่มต้นธุรกิจ
– ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ
– มีโครงการลงทุนใหม่ในกิจการ
2.การจัดหาเงินทุน
– ต้องการกู้เงิน
– ต้องการหาผู้ร่วมทุน
3.การเปลี่ยนแปลง
– ภายนอก
- สภาพธุรกิจผันผวน
- ธุรกิจมีการแข่งขันอย่างรุนแรง
- การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
– ภายใน
- การเปลี่ยนแปลงการบริหาร
- สูญเสียลูกค้าคนสำคัญ
- ดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
หลังจากได้กล่าวถึงเรื่องของที่มาของแผนธุรกิจ และเหตุผลของการเขียนแผนธุรกิจในสองตอนที่ผ่านมาแล้วนั้น ในตอนนี้ผู้เขียน จะได้กล่าวถึง ความหมายหรือคำจำกัดความของคำว่า “แผนธุรกิจ” ซึ่งผู้ประกอบการจำนวนมาก ยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง ของแผนธุรกิจ ว่าองค์ประกอบของแผนธุรกิจ หรือสิ่งที่เรียกว่า แผนธุรกิจคืออะไร โดยมักพิจารณาหรือให้ความสำคัญ แต่ลักษณะ ภายนอกตามที่ปรากฏ คือ การมีลักษณะของเอกสาร (Document) หรืออยู่ในรูปของรายงาน (Report) ที่บรรจุข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจต่างๆ ตามหัวข้อ หรือ โครงสร้างต่างๆที่ระบุไว้ เช่น บทสรุปผู้บริหาร การวิเคราะห์ตลาดและอุตสาหกรรม แผนการบริหารจัดการ แผนการตลาด แผนการผลิต แผนการเงิน ซึ่งในแต่ละส่วนของหัวข้อในโครงสร้างนี้ ก็อาจจะมีหัวข้อปลีกย่อยออกไปมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ลักษณะธุรกิจ โดยถ้าตนเอง กรอกรายละเอียดต่างๆได้ครบถ้วน ตามหัวข้อเหล่านี้ ก็น่าที่จะเรียกได้ว่า เป็นแผนธุรกิจที่ครบถ้วนเพียงพอแล้ว จึงทำให้ ผู้ประกอบการมุ่งเน้น ที่จะใส่รายละเอียดต่างๆให้ครบเป็นหลัก โดยไม่ได้เข้าใจถึงความหมายของแผนธุรกิจ รวมถึงวัตถุประสงค์และการใช้ประโยชน์ของแผนธุรกิจ เพราะแท้จริงแล้ว ถ้าจะกล่าวโดยง่าย แผนธุรกิจ (Business Plan) ก็คือ เอกสาร (Document) ที่แสดงรายละเอียดต่างๆใน การวางแผนธุรกิจ (Business Planning) อันมาจากผู้เขียน หรือจากตัวธุรกิจนั่นเอง ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แผนธุรกิจที่จัดทำขึ้น ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักจะยังไม่ถึงในระดับมาตรฐานที่เพียงพอ ในการที่จะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ หรือความสามารถใน การวางแผนธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จ หรือขาดรายละเอียดที่สำคัญ และจำเป็น สำหรับการวิเคราะห์ของธนาคารหรือสถาบันการเงิน หรือยังไม่ถึงระดับมาตรฐาน เพื่อการแข่งขัน ในการประกวดแผนธุรกิจ ในระดับสากล ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการ หรือผู้เขียนแผน ยังไม่เข้าใจพื้นฐานว่า แท้จริงแล้วแผนธุรกิจคืออะไร ดังนั้นก่อนที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนธุรกิจว่าคืออะไร ลองดูรายละเอียดและคำจำกัดความของแผนธุรกิจ จากแหล่งอ้างอิงต่างๆ ทั้งที่เป็นแหล่งอ้างอิงจาก ในประเทศและจากต่างประเทศ ดูก่อนเป็นเบื้องต้น
นิยาม…คำจำกัดความของแผนธุรกิจ
A comprehensive planning document which clearly describes the business developmental objective of an existing or proposed business. The plan outlines what and how and from where the resources needed to accomplish the objective will be obtained and utilized.
เอกสารสรุปรวมการวางแผนซึ่งได้แสดงรายละเอียดอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการพัฒนา และปรับปรุงธุรกิจ ของธุรกิจ ที่ดำรงอยู่หรือธุรกิจที่ตั้งเป้าหมาย แผนนี้จะแสดงให้เห็นถึง สิ่งที่จะดำเนินการ วิธีการ และแหล่งที่มาของทรัพยากร ของธุรกิจ ที่จะได้มา และใช้ประโยชน์ ซึ่งมีความจำเป็นในการที่จะประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของธุรกิจ
แหล่งที่มา: U.S. Small Business Administration (SBA), www.sba.gov
A business plan is a summary of how a business or entrepreneur intends to organize an entrepreneurial endeavor and implement activities necessary and sufficient for the venture to succeed. It is a written explanation of the company’s business model for the venture in question. Business plans are developed for ventures in both business and government.
แผนธุรกิจคือ บทสรุปของวิธีการที่ธุรกิจ หรือผู้ประกอบการ มีความตั้งใจที่จะรวบรวมความอุตสาหะพยายามในการประกอบการ และกิจกรรม ที่จำเป็นในการดำเนินการ ซึ่งเพียงพอต่อความเสี่ยงในการประสบความสำเร็จ โดยจะถูกเขียนขึ้น เพื่ออธิบายต่อ ประเด็นปัญหาต่างๆ จากความเสี่ยงนั้น ตาม Business Model ที่กำหนดของธุรกิจ ซึ่งแผนธุรกิจโดยทั่วไปจะถูกพัฒนาขึ้น สำหรับการลงทุนของตัวธุรกิจเอง หรือหน่วยงานของรัฐด้วย
แหล่งที่มา: Wikipedia, the free encyclopedia, www.wikipedia.org
รายละเอียดเบื้องต้นเป็นตัวอย่างเกี่ยวกับคำนิยามของแผนธุรกิจจากต่างประเทศ คือของ U.S. Small Business Administration (SBA) ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลและสนับสนุนด้านต่างๆเกี่ยวกับ SMEs ของอเมริกา และจาก Wikipedia, the free encyclopedia ซึ่งถือเป็นแหล่งฐานข้อมูล On-line ที่แพร่หลายที่สุดในโลก คราวนี้ลองมาดูนิยามหรือข้อความที่กล่าวถึงว่าแผนธุรกิจคืออะไร จากแหล่งที่มาในประเทศไทยดูบ้าง
แผนธุรกิจ (Business Plan) คือแผนงานทางธุรกิจที่แสดงกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติในการลงทุนประกอบการ โดยมีจุดเริ่มต้นจาก จะผลิตสินค้าและบริการอะไร มีกระบวนการปฏิบัติอย่างไรบ้าง และผลจากการปฏิบัติออกมาได้มากน้อยแค่ไหน ใช้งบประมาณและ กำลังคน เท่าไร เพื่อให้เกิดเป็นสินค้าและบริการแก่ลูกค้า และจะบริหารธุรกิจอย่างไรธุรกิจจึงจะอยู่รอด
แหล่งที่มา: มาณพ ชิวธนาสุนทร, แผนธุรกิจ SMEs, สำนักพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ,
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, กระทรวงอุตสาหกรรม, 2547
แผนธุรกิจ (Business Plan) เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่ริเริ่มจะก่อตั้งกิจการ แผนนี้เป็นผลสรุป หรือผลรวม แห่ง กระบวนการคิดพิจารณา และการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนความคิดของผู้ประกอบการออกมาเป็นโอกาสทางธุรกิจ มีผู้เปรียบเทียบว่า แผนธุรกิจเปรียบเหมือนแผนที่ในการเดินทาง ที่จะชี้แนะขั้นตอนต่างๆทีละขั้นตอนในกระบวนการก่อตั้งกิจการ แผนจะให้รายละเอียด ต่างๆ ทั้งเรื่อง ของการตลาดการแข่งขันกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ การคาดคะเนทางการเงิน ที่จะชี้นำผู้ประกอบการไปสู่ความสำเร็จ หรือชี้ให้เห็น ถึงจุดอ่อนและข้อควรระวัง
แหล่งที่มา: สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED), www.ismed.or.th
แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็ยังเคยกำหนดเกี่ยวกับคำจำกัดความของแผนธุรกิจ ตามลักษณะของแผนธุรกิจที่เป็นอยู่ในประเทศไทย คือ มีลักษณะเป็นเอกสาร (Document), ครอบคลุมกระบวนการจัดการทุกๆด้านของธุรกิจ (Summary of all business activities), มีการระบุถึงการวางแผนตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของธุรกิจ (Business planning for accomplish business goals and objectives), แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น (Show business results) ซึ่งเมื่อรวมองค์ประกอบทั้งหมด เพื่อกำหนดเป็นนิยามของ แผนธุรกิจ ตามความเข้าใจของผู้เขียน จะได้เป็น เอกสารซึ่งแสดงถึงข้อมูลและรายละเอียดของธุรกิจ รวมถึงวิธีการและกระบวนการ ในการดำเนินการของธุรกิจในทุกด้าน ที่ได้ผ่านการวางแผนขึ้นตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของธุรกิจนั้น และแสดงให้เห็นถึง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ของธุรกิจ จากวิธีการและกระบวนการในการดำเนินการของธุรกิจที่ได้กำหนดขึ้น
แหล่งที่มา: การอบรมโครงการเตรียมความพร้อมด้านแผนธุรกิจในการร่วมลงทุน ปี 2549
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), www.sme.go.th
จากนิยามทั้งหมดที่กล่าวมาเบื้องต้น จะเห็นได้ว่าในแต่ละนิยามหรือคำจำกัดความของแผนธุรกิจ จะแตกต่างกันออกไปตาม แต่แหล่งที่ กำหนด คำนิยามต่างๆเหล่านี้ ซึ่งอาจเน้นในส่วนของความเป็นแผนงาน (Plan) หรืออาจมองในแง่ของ การเปรียบเสมือนแผนที่ (Map) ในการดำเนินธุรกิจ บ่อยครั้งที่ผู้เขียนได้รับคำถามจากผู้ประกอบการหรือผู้เข้ารับการอบรมว่า ความหมายของแผนธุรกิจคืออะไร ซึ่งผู้เขียนก็มักจะตอบคำนิยามจาก แหล่งอ้างอิงต่างๆให้ทราบ แต่ก็มักจะคิดอยู่เสมอว่า ถ้าผู้ประกอบการดังกล่าวรู้คำนิยามเหล่านี้แล้ว จะมีประโยชน์อะไร ถ้าไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าแผนธุรกิจคืออะไร และมีประโยชน์ต่อตนเองอย่างไร คล้ายๆกับคำถามว่าทำธุรกิจอะไรดี ผู้เขียนก็จะตอบว่า ธุรกิจอะไรก็ได้ที่ทำแล้วมีกำไร เพราะธุรกิจมีมากมายหลายหลายเป็นพันเป็นหมื่นธุรกิจ การจะบอกว่าธุรกิจนั้นดี หรือธุรกิจนี้ดี มิได้หมายความว่า ถ้าผู้ประกอบการไปทำธุรกิจนั้นแล้วจะประสบความสำเร็จ เพราะขึ้นกับความรู้ความชำนาญ ลักษณะนิสัย ทุนทรัพย์ที่มีอยู่ และข้อจำกัดต่างๆของผู้ประกอบการเอง อีกมากมาย หรือคำถามว่าอยากจะจัดตั้งบริษัท ควรจะมีทุนจด ทะเบียนบริษัทเท่าใดดี ซึ่งผู้เขียนจะตอบว่า เท่าที่ทุนของผู้ประกอบการมีแต่ต้องไม่น้อยกว่า 35 บาท ซึ่งคำถามเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นคำถาม ที่ผู้เขียนเองคิดว่าถึง ผู้ประกอบการจะรู้ไปก็ไม่น่าจะเกิดประโยชน์อะไรนัก ดงนั้นผู้เขียนจึงมักเน้นต่อ ผู้เข้าอบรม อยู่เสมอว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสียเวลา ไปท่องจำความหมาย หรือคำนิยามของแผนธุรกิจ แต่ควรจะใช้เวลากับ การทำความเข้าใจความหมายหรือคำนิยามมากกว่า
จากในเรื่องของแผนธุรกิจคืออะไร ซึ่งอาจจะลงลึกถึงโครงสร้างต่างๆของแผนธุรกิจ หรือหัวข้อต่างๆที่อยู่ในแผนธุรกิจ ก็จะมีคำถาม อยู่เสมอว่า ถ้าผู้ประกอบการไม่สามารถแสดงรายละเอียดต่างๆ บางส่วนที่เป็นข้อกำหนดของแผนธุรกิจที่จะพึงมี หรือเป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยงาน ในเรื่องของหัวข้อต่างๆของแผนธุรกิจที่ระบุไว้ เช่น ไม่สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับ การวิเคราะห์ตลาด แผนการตลาด แผนการบริหารจัดการ แผนการผลิต หรือการบริการ แผนการเงิน คืออาจจะเขียนได้บางส่วนหรือไม่ สมบูรณ์ หรือไม่สามารถจัดทำได้เลย จะถือว่าเป็นแผนธุรกิจ หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องของแผนการเงิน ซึ่งนอกจากจะต้องมีการจัดทำ ประมาณการทางการเงินล่วงหน้า เช่น ประมาณการยอดขาย ประมาณการต้นทุนค่าใช้จ่าย งบดุล งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด ซึ่งถือเป็นรายการทางการเงินพื้นฐานที่จะต้องมีในแผนธุรกิจ เพราะการ จัดทำประมาณการล่วงหน้านี้ จำเป็นจะต้องใช้ความรู้ ด้านการเงิน หรือการบัญชี ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้เรียนมาด้านธุรกิจ ก็จะถือเป็น ข้อจำกัดในการจำกัดในการจัดทำแผน ดังกล่าวอย่างยิ่ง หรือแม้แต่ตัวผู้ประกอบการที่เรียนมาโดยตรงในด้านดังกล่าว ก็ใช่ว่า ทุกคนจะสามารถจัดทำได้ ทำให้ในส่วนของ แผนการเงินดังกล่าวโดยทั่วไป มักจะขาดหายไปหรือไม่สมบูรณ์เพียงพอ โดยผู้ประกอบการทั่วไป ก็มักจะบอกว่า ถ้าไม่มีในส่วนของ แผนการเงิน จะสามารถถือว่าเป็นแผนธุรกิจได้หรือไม่ ซึ่งผู้เขียนก็มักจะตอบว่า ถ้าธุรกิจของผู้ประกอบการ ขายสินค้า หรือผลิตสินค้า โดยไม่ได้รับเงินหรือไม่ต้องใช้เงิน การไม่มีแผนการเงินในแผนธุรกิจก็ไม่เป็นไร แต่ความเป็นจริง การทำธุรกิจ มีจุดประสงค์ เพื่อสร้างมูลค่าของธุรกิจให้มีมูลค่าสูงสุด หรือมีผลกำไรสูงสุด ดังนั้นแผนการเงิน จึงเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่ในแผนธุรกิจ เพราะเป็น ผลลัพธ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับแผนการเงิน รวมถึงขั้นตอนการจัดสำหรับ ผู้ประกอบการที่จะใช้ระบุใน แผนธุรกิจ รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆแล้ว ผู้ประกอบการจะทำอย่างไร และมีประเด็นพิจารณาในจุดใดบ้าง ผู้เขียนจะได้กล่าวถึง ในตอนต่อๆไป
คิดแล้วเขียน…หลักพื้นฐานของแผนธุกิจ
หลักเริ่มต้นของแผนธุรกิจ จะเริ่มต้นจาก การวางแผนธุรกิจ (Business Planning) ซึ่งในขั้นตอนการวางแผนธุรกิจ ถ้ามีแต่เฉพาะแต่ การวางแผนโดยไม่มีการเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร การวางแผนดังกล่าวก็เป็นเพียงความคิดในสมองของคนวางแผนนั้น นอกจากนี้ ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์เราคิด หรือวางแผนอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะผู้ประกอบการ ถ้าลองสอบถามว่า เมื่อวานนี้ผู้ประกอบการวางแผนว่า จะดำเนินธุรกิจอย่างไร เชื่อว่าผู้ประกอบการบางรายอาจจะยังพอตอบได้ แต่ก็ไม่น่าจะเป็น ทุกรายที่ตอบได้ แต่ถ้าถามว่าแล้ว ที่วางแผนไว้ เมื่อเดือนที่แล้วเป็นอย่างไร อาจมีเพียงผู้ประกอบการ เพียงส่วนน้อย หรือไม่มีเลย ที่จะสามารถบอกได้ โดยเฉพาะถ้าต้องมีการเปรียบเทียบ ความแตกต่างระหว่าง การวางแผนธุรกิจ เมื่อต้นปีกับปลายปี หรือบอกได้ว่าสิ่งที่ธุรกิจได้ดำเนินการไปจริงๆนั้น เป็นไปตามสิ่งที่เคย วางแผนไว้ ในสมองหรือไม่ ดังนั้นการเขียนสิ่งที่อยู่ใน สมองออกมา เป็นลายลักษณ์อักษร หรือการแปลงสิ่งที่เป็นนามธรรม (ความคิด) ออกมาเป็นรูปธรรม (ลายลักษณ์อักษร) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถติดตาม ตรวจสอบ ทบทวน ในการดำเนินการหรือการปฏิบัติ ว่าเป็นไปตาม สิ่งการวางแผนไว้ และผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเช่นใด จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขตรงจุดใด และด้วยวิธีการดำเนินการแบบใด ที่จะทำให้ธรกิจมีผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งก็จะมาจากการจัดทำแผนธุรกิจนี่เอง
จากรายละเอียดดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า แผนธุรกิจจึงมีความจำเป็นต่อธุรกิจทุกๆธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือธุรกิจขนาดใหญ่ จะเป็นธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา หรือเป็นนิติบุคคล เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัดก็ตาม เพราะตราบใดก็ตาม ที่ยังมีการดำเนินการ ธุรกิจอยู่ ธุรกิจหรือตัวผู้ประกอบการก็มีความจำเป็นที่ต้องมีการวางแผน การประมาณการ การดำเนินการ และการติดตามประเมินผล ว่าผลลัพธ์ของธุรกิจนั้นเป็นเช่นใด ซึ่งสิ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นได้ง่ายที่สุดคือ ผลกำไรหรือขาดทุนของกิจการ หรืออาจสะท้อนออกมา ในมูลค่าหุ้นสามัญของธุรกิจ ซึ่งถ้าได้มีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเขียนเป็นแผนธุรกิจ ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการ สามารถดำเนินการ ตรวจสอบทบทวนแก้ไขรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรทรัพยากรของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์ ต้นทุนต่างๆใน การดำเนินการ บุคลากร ค่าใช้จ่าย ยอดขาย รายรับ รายจ่าย กิจกรรมดำเนินงานต่างๆ ที่จะดำเนินการทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าผู้ประกอบการไม่มีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย ที่ผู้ประกอบการจะจำได้ว่า ได้เคย วางแผน และดำเนินการอะไรไปบ้าง ดังนั้นในด้านหนึ่งแผนธุรกิจจึงถือได้ว่า เป็นบันทึกของธุรกิจ (Business Diary) ที่จะใช้เป็น เครื่องมือ ช่วยจำ ให้กับผู้ประกอบการ ว่าได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง หรือกำลังจะดำเนินการอะไรในอนาคต และถ้าผู้ประกอบการได้จัดทำ และทบทวน แผนธุรกิจในทุกๆปี ก็จะสามารถเห็นถึงการเปลี่ยนแปลง การเติบโต ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของธุรกิจ และวิธีการดำเนินการของธุรกิจ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน รวมถึงแนวทางในการพัฒนาของธุรกิจต่อไปในอนาคตอีกด้วย
ไม่ใช่แค่รู้…แต่ต้องเข้าใจและให้ความสำคัญ
แต่เนื่องจากการที่ผู้ประกอบการ หรือธุรกิจจำนวนมากยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญ ของการที่ธุรกิจของตนเอง มีความจำเป็นต้อง จัดทำ แผนธุรกิจขึ้น และต้องมีการดำเนินการ ต้องปรับปรุงและทบทวนอยู่โดยตลอดในแต่ละช่วงเวลา หรือในสภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงความเข้าใจที่ว่าการจัดทำแผนธุรกิจ เป็นเรื่องของธุรกิจหรือองค์กรขนาดใหญ่ๆที่มียอดขายต่อเดือนเป็นสิบๆล้าน หรือเป็นร้อยล้านขึ้นไป ที่สมควรจะจัดทำขึ้น โดยธุรกิจของตนเองที่เป็นเพียงแค่ SMEs มียอดขายเดือนละหลักหมื่นหรือหลักแสน จึงไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องมี การจัดทำแผนธุรกิจ เพราะเป็นการสิ้นเปลืองเวลา และตนเองก็สามารถบริหารธุรกิจให้มีผลกำไรได้โดยไม่จำเป็นต้องมีแผนธุรกิจ และก็ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปติดต่อธนาคารหรือสถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อ จึงยังไม่ต้องทำในตอนนี้แต่ถ้าจะต้องจัดทำขึ้น ก็ต่อเมื่อต้องไปติดต่อ ขอสินเชื่อกับทางธนาคาร หรือสถาบันการเงินเท่านั้น เนื่องจากมิฉะนั้นจะกู้เงินไม่ได้ ทำให้แผนธุรกิจ จะถูกจัดทำขึ้นใน ลักษณะเฉพาะกาล หรือเฉพาะช่วงเวลา ที่มีความจำเป็นต้องใช้เท่านั้น และมักจะมิได้นำแผนธุรกิจ ที่จัดทำขึ้นมาใช้ประโยชน์ใน การดำเนินธุรกิจเลย
นอกจากเรื่องของการแสดงรายละเอียดในการวางแผนของธุรกิจ และผลลัพธ์ของธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนเข้าใจว่า แผนธุรกิจที่ดี คือแผนที่แสดงรายละเอียด ตามหัวข้อต่างๆให้ครบถ้วน และต้องเขียนให้มีผลประกอบการที่ดี เพื่อที่เมื่อธนาคาร หรือสถาบันการเงินเห็นว่า ธุรกิจของตนเองเป็นธุรกิจที่มีผลกำไร จะเป็นสิ่งช่วยให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อให้กับตนเอง ซึ่งอาจรวมถึง ลักษณะของ แผนธุรกิจในวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อการร่วมลงทุน หรือเพื่อการแข่งขัน โดยใส่แต่ รายละเอียดในด้านดีเกินจริง โดยเฉพาะในเรื่อง ประมาณการต่างๆเกี่ยวกับรายได้ หรือยอดขาย และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อให้ธุรกิจมีผลกำไร หรือผลตอบแทนในระดับสูง ซึ่งก็คือ การมองแต่ด้านผลลัพธ์ของธุรกิจ หรือมีมุมมองเฉพาะผลลัพธ์จากตัวเลข ซึ่งมักจะไม่สอดคล้อง หรือมีความเป็นไปได้ เมื่อพิจารณาจากการกำหนดกิจกรรมดำเนินการต่างๆ ในการวางแผนธุรกิจที่กำหนดไว้ ซึ่งก็มาจากความไม่เข้าใจ เกี่ยวกับแผนธุรกิจที่ต้องมาจากพื้นฐานความเป็นจริง และมีกระบวนการในการวางแผนธุรกิจที่รอบคอบรัดกุม และเป็นที่น่าเชื่อถือว่า ถ้าธุรกิจดำเนินการตามสิ่งที่ได้วางแผนที่ระบุไว้ จะสามารถแก้ไขปัญหา หรือประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง ซึ่งผู้เขียนจะได้อธิบาย เพิ่มเติมในเรื่องของแนวความคิดเกี่ยวกับแผนธุรกิจที่ดี หรือแผนธุรกิจที่ถูกต้องในโอกาสต่อๆไป
ฝ่ายประสานและบริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)