วิธีการตรวจสอบภาษี ของกรมสรรพากรด้วยระบบ Risk Based Audit System (RBA.)

สำหรับท่านผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs นั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องของภาษี เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เจ้าของธุรกิจทุกคนต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ การติดตามข่าวสารต่าง ๆ ของกรมสรรพากรเกี่ยวกับการตรวจสอบภาษีของผู้ประกอบการจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความใส่ใจ ซึ่งกรมสรรพากรในยุค 4.0 ก็ได้มีการพัฒนาระบบการตรวจสอบขึ้นมาใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีทางไอทีมาใช้วิเคราะห์และตรวจสอบว่าเจ้าของธุรกิจแต่ละรายมีการเสียภาษีที่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งระบบนี้เรียกว่า Risk Based Audit System ลองมาทำความเข้าใจกับระบบการตรวจสอบภาษีแบบใหม่ที่ว่านี้กัน รับรองว่าคุณจะรู้วิธีจัดการสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงปลอดภัยจากการมาตรวจสอบกิจการของคุณจากกรมสรรพากรอย่างแน่นอน

ระบบ Risk Based Audit System (RBA.) คืออะไร

Risk Based Audit System หรือ (RBA.) คือการวางระบบบัญชีและตรวจสอบภาษีรูปแบบใหม่ที่กรมสรรพากรนำเข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ และตรวจสอบการเสียภาษี โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูล ทั้งข้อมูลจากภายในและภายนอกองค์กร ไปสู่การตรวจสอบภาษีอย่างโปร่งใส ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้จะแบ่งการวิเคราะห์ในระบบ RBA. มี 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. ข้อมูลการยื่นภาษีของบริษัทผ่านระบบสรรพากร ได้แก่ ภงด.50 ภ.พ.30 ภงด.3 ภงด.53 ภงด.1 ภงด.2
  2. ข้อมูลของบริษัทที่มีในบันทึกของหน่วยงานภายนอก เช่น ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต การไฟฟ้า การประปา ข้อมูลของโรงงานอุตสาหกรรม
  3. ข้อมูลของบริษัทจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลังไปในอดีต 3-5 ปี
  4. ข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดเก็บภาษี

หลักการตรวจสอบภาษีของสรรพากร

เมื่อมีการใช้ระบบนี้เข้ามาวิเคราะห์แล้ว ประโยชน์ที่กรมสรรพากรจะได้รับคือจะสามารถตรวจสอบการเสียภาษีของผู้ประกอบการได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เช่น กรณีหากรายรับไม่สอดคล้องกับรายจ่าย หรือช่องทางการเงินใดที่ไม่สามารถตรวจสอบต้นสายปลายเหตุได้ เกณฑ์เหล่านี้ก็จะถูกประเมินความเสี่ยง และนำไปสู่การสุ่มตรวจสอบผู้ประกอบการ เพื่อทำการแก้ไขและทำให้ถูกต้องได้มากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็ยังมีมาตรการในการเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งแบ่งออกไปตามระดับความเสี่ยง โดยเจ้าหน้าที่มีมาตรการดังต่อไปนี้

  1. แนะนำด้านการตรวจสอบภาษีอากร การแนะนำเป็นมาตรการที่เบาที่สุด เป็นการกึ่งขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการก็ว่าได้ โดยเจ้าหน้าที่จะคอยเป็นที่ปรึกษาภาษีให้คำแนะนำ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา แนะนำแนวทางเพื่อแก้ไข สำหรับผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือก็จะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น แต่สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่ไม่ให้ความร่วมมือ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะทำการติดตามเป็นระยะและเพิ่มเป็นมาตรการในระดับที่รุนแรงขึ้น
  2. ตรวจสอบแบบแสดงรายการภาษี สำหรับกิจการที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้อง ไม่วางระบบบัญชีใหม่ ไม่วางแผนภาษีให้ถูกต้อง และเพิกเฉยต่อการแก้ไขข้อมูลในเบื้องต้น ลำดับต่อมาเจ้าหน้าที่จะทำการวิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลด้วยตนเอง
  3. การตรวจปฏิบัติการ มาตรการลำดับต่อมาถือว่ามีความจริงจังมากขึ้นไปอีก เพราะเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ขอเข้าไปตรวจเช็คสต๊อกสินค้า ตรวจนับเทียบกับตัวเลขในบัญชีว่ามียอดที่ตรงกันหรือไม่ ถ้าหากตรวจสอบแล้วพบว่ามียอดคงเหลือที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ผู้ประกอบการก็จะต้องเสียภาษีและเบี้ยปรับย้อนหลัง
  4. ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากร มาตรการขั้นสุดท้ายที่มีความรุนแรงมากที่สุด หากผู้ประกอบการไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขข้อมูลตั้งแต่ต้น ตลอดจนไม่ให้ความร่วมมือในการลงพื้นที่ ทางเจ้าหน้าที่จำเป็นที่จะต้องออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากร ซึ่งถ้าหากถึงขั้นนี้อาจทำให้ผู้ประกอบการเสียค่าใช้จ่ายย้อนหลังมากขึ้นไปอีก อีกทั้งอาจจะทำให้เสียภาพลักษณ์ของธุรกิจด้วยก็เป็นได้

ผู้ประกอบการ SME ควรเตรียมตัวอย่างไรกับการ ใช้ระบบ RBA.

อย่างแรกเลยที่ผู้ประกอบการ SME ทุกท่านควรตระหนักถึงความสำคัญคือ การใช้ระบบ RBA. นี้เป็นระบบที่ค่อนข้างทำงานได้รวดเร็ว สามารถตรวจสอบได้อย่างละเอียด มีประสิทธิภาพ ใช้ระยะเวลาในการทำงานน้อยลง และที่สำคัญคือสามารถตรวจสอบได้อย่างเจาะลึกในแต่ละประเด็นมากยิ่งขึ้น

ฉะนั้นผู้ประกอบการเองจะต้องวางแผนธุรกิจและมีการวางแผนบัญชีให้ดี รวมไปถึงต้องมีความพร้อมในเรื่องของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น แบบแสดงรายการของผู้เสียภาษีประเภทต่าง ๆ บัญชีรายรับรายจ่าย งบดุล แบบแสดงต่อกรมศุลกากร ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนของพนักงาน หรือแม้แต่ค่าน้ำค่าไฟ ข้อมูลเหล่านี้ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวให้พร้อม

นอกจากนี้ผู้เสียภาษีจะต้องชี้แจงอย่างถูกต้อง และตรงไปตรงมา ว่าตนเองนั้นมีการเสียภาษีส่วนไหน อย่างไรบ้าง ซึ่งข้อดีคือเป็นการได้วางแผนภาษีของตัวเองให้ถูกต้อง หรือถ้าหากที่ผ่านมายังมีข้อมูลใดที่ไม่ถูกต้อง ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้ปรับปรุงแก้ไข เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงในการถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง (ซึ่งอาจจะหนักกว่าการทำให้ถูกต้องไปเลยตั้งแต่ครั้งแรก) ถ้าหากเรานำส่งภาษีได้อย่างถูกต้องเสียตั้งแต่แรก แน่นอนว่าก็ช่วยลดภาระ ลดความเสียหาย และสบายใจได้ในระยะยาว

จะเห็นได้ว่าการเสียภาษีอย่างถูกต้อง วางแผนธุรกิจให้ดี ดำเนินธุรกิจที่เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลที่ได้แนะนำไว้ เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตาม ถ้าหากกิจการใดทำบัญชีโดยปกปิดข้อเท็จจริง สร้างรายจ่ายอันเป็นเท็จ รวมทั้งการทำเอกสารปลอมต่าง ๆ นอกจากจะถูกกรมสรรพากรดำเนินคดีแล้ว ยังเป็นความผิดทางอาญาตาม พรบ.การบัญชี พ.ศ.2543 ด้วย ซึ่งมีแต่จะเสียกับเสีย ไม่ว่าท่านจะประกอบธุรกิจการ ร้านค้าออนไลน์ หรือธุรกิจร้านค้าประเภทใดก็ตาม ถ้าหากปฏิบัติให้ถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้ ก็จะไม่ต้องยุ่งยากในการทำบัญชีอีกต่อไป สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่กำลังต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Risk Based Audit System ที่ใช้ในการตรวจสอบภาษี ลองเข้ามาติดต่อสอบถามกับ Scholar Accounting  เพื่อรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำบัญชี รับรองว่าคุณจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างแน่นอน