รู้เขารู้เรา การวางแผนด้านภาษีของธุรกิจออนไลน์

ปัจจุบันตลาดซื้อขายออนไลน์ เป็นตลาดที่มีอนาคตสดใสและมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าใครต่างก็สามารถซื้อขายของออนไลน์ได้อย่างสะดวกง่ายดายผ่านสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ ดังนั้น จึงมีเจ้าของธุรกิจจำนวนมากที่ทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์และกิจการไปได้ดีจนมีรายได้มากถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี ซึ่งการเสียภาษีของธุรกิจออนไลน์นั้นก็ต้องมีการวางแผนไม่ต่างจากการทำธุรกิจออฟไลน์ ดังนั้นเราจึงต้องมาเรียนรู้ถึงขั้นตอนการวางแผนภาษีเพื่อให้ธุรกิจออนไลน์ของเราไม่เสียสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และเสียภาษีในจำนวนที่สมเหตุสมผล ไม่ต้องเสียเงินไปกับค่าใช้จ่ายด้านภาษีที่เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้

การวางแผนด้านภาษีของธุรกิจออนไลน์ คืออะไร

การวางแผนด้านภาษีของธุรกิจออนไลน์ ไม่ใช่การโกงภาษีหรือหาช่องทางในการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี แต่เป็นการวางแผนใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่าง ๆ อย่างคุ้มค่า และไม่ทำในสิ่งที่ผิดพลาดจนทำให้ต้องเสียค่าปรับหรือต้องจ่ายเงินชำระภาษีมากเกินความจำเป็น ซึ่งเงินที่ไม่ต้องจ่ายภาษีส่วนเกินเหล่านี้ก็สามารถนำมาลงทุนต่อยอดหรือหมุนเวียนธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น

ถ้าธุรกิจออนไลน์ไม่จ่ายภาษีจะเกิดอะไรขึ้น

เจ้าของธุรกิจออนไลน์ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องเสียภาษีตามกฎหมายเช่นเดียวกับเจ้าของธุรกิจและเจ้าของกิจการอื่น ๆ ซึ่งธุรกิจออนไลน์นั้นสามารถตรวจสอบภาษีได้ไม่ยาก ดังนั้นการจดทะเบียนธุรกิจและเสียภาษีให้ถูกต้องย่อมเป็นผลดีกว่า เพราะหากหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษีอาจจะโดนปรับให้จ่ายเงินเพิ่มและต้องจ่ายเบี้ยปรับด้วย ซึ่งจำนวนเงินที่จ่ายเพิ่มนี้จะคิดในอัตราเดือนละ 1.5% ของภาษีที่ต้องจ่ายนับตั้งแต่วันที่เลยกำหนดให้ยื่นภาษี จนถึงวันที่จ่ายเงินครบซึ่งเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มนี้จะไม่เกินยอดภาษีที่ต้องจ่าย ส่วนค่าปรับในกรณีที่ไม่ยื่นภาษีตามที่กำหนดจะคิดในอัตรา 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องจ่าย เช่น มีภาษีที่ต้องจ่ายเป็นจำนวน 1 แสนบาท หากผิดกำหนดชำระภาษีโดยไม่จ่ายเลยเป็นเวลา 1 ปี จะต้องจ่ายภาษีในอัตรา 2 แสนบาท เป็นต้น

วิธีวางแผนเสียภาษีออนไลน์ให้ถูกต้องและคุ้มค่า

การวางแผนเสียภาษีของธุรกิจออนไลน์ ต้องเริ่มต้นจากการเลือกรูปแบบของธุรกิจที่ถูกต้อง โดยมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ

1.กิจการร้านค้าออนไลน์ที่มีเจ้าของคนเดียว ซึ่งต้องจดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้านับตั้งแต่ 30 วันหลังจากเริ่มประกอบธุรกิจ ธุรกิจประเภทนี้มีความสะดวกตรงที่ไม่ต้องจัดเก็บเอกสาร เพราะสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ในอัตรา 80% ทันที และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายแฝงในด้านบัญชีรวมถึงเอกสาร อีกทั้งยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามสิทธิปกติ เช่น LTF/RMF และประกันชีวิต

2.กิจการแบบนิติบุคคล กิจการแบบนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภทคือ ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด ซึ่งการจดทะเบียนธุรกิจแบบนี้เหมาะสำหรับกิจการที่มีรายได้ตั้งแต่ 800,000–1 ล้านบาทขึ้นไป โดยอัตราภาษีของกิจการประเภทนี้จะอยู่ที่ 0-20%

เมื่อเลือกประเภทของกิจการที่เหมาะสมสำหรับการจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว ก็จัดการภาษีและวางระบบบัญชีอย่างเป็นระบบด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1.จดบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่เกิดขึ้นซึ่งประกอบไปด้วยใบเสร็จใบกำกับภาษี ให้เป็นระเบียบเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ ซึ่งหากไม่ค่อยแน่ใจหรือคิดว่ามีความรู้ไม่เพียงพอ สามารถปรึกษา ที่ปรึกษาบัญชีเพื่อช่วยในการวางแผนบัญชีอย่างเป็นระบบได้

2.บันทึกข้อมูลสินค้าเข้า-ออก และสินค้าคงเหลืออย่างละเอียด ซึ่งการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการจัดการจะทำให้การบันทึก ตลอดจนการตรวจสอบความถูกต้องทำได้ง่ายและประหยัดเวลาขึ้น หากมีสินค้าเสียหายจำนวนมาก ทางร้านไม่ควรทำลายเอง ควรแจ้งเจ้าหน้าที่สรรพากรมาร่วมสังเกตการทำลายสินค้า มิเช่นนั้น สินค้าที่หายไปจะถือว่าเป็นยอดขายของทางร้าน

3.กิจการที่มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าคุณจะจดทะเบียนธุรกิจแบบใดทั้งแบบกิจการเจ้าของคนเดียวหรือนิติบุคคล หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ตามนี้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น ดังนั้นหากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านเมื่อไหร่ต้องรีบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนด

4.ยื่นรายการภาษีปีละ 2 ครั้งตามที่กฎหมายกำหนดคือ ช่วงกลางปีและสิ้นปี

5.อย่าลืมติดตามข่าวสารเพื่อจะได้ไม่พลาดสิทธิในการลดหย่อนต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและการวางแผนเสียภาษี

6.ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับด้านบัญชีสำหรับผู้บริหารเพื่อจะได้ดูแลและวางแผนบัญชีอย่างรอยคอบรัดกุมและเป็นประโยชน์ในการวางแผนภาษี

เคล็ดลับวางแผนการทำบัญชีเพื่อไม่ให้เสียภาษีมากเกินความจำเป็น

  • อย่านำค่าใช้จ่ายส่วนตัวมารวมกับการทำธุรกิจเด็ดขาด เพราะหากจ่ายเงินทุกอย่างด้วยเงินของบริษัทโดยที่รายจ่ายส่วนตัวนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน, ค่าเดินทางท่องเที่ยวโดยไม่เกี่ยวกับการทำธุรกิจ ช็อปปิ้ง และซื้อของส่วนตัว เป็นต้น เพราะจะทำให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น
  • หากต้องลงทุนเพื่อขยายกิจการหรือเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ต้องตรวจสอบอยู่เสมอว่าไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อของแพงเกินจริง หรือพูดง่าย ๆ ว่าการซื้อของแต่ละอย่างต้องมีราคาไม่เกินจากราคาตลาดมากเกินปกติ

นอกจากนี้ ยังมีเคล็ดลับอื่น ๆ สำหรับการวางแผนทำบัญชีเพื่อธุรกิจจะได้ไม่เสียสิทธิทางด้านภาษี ดังนั้นหากต้องการวางแผนภาษีอย่างเป็นระบบและครบถ้วนเช่นนี้ ควรปรึกษาที่ปรึกษาภาษีเพื่อการจัดทำบัญชีและวางแผนภาษีเป็นไปได้อย่างถูกต้อง

วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการจัดการภาษีออนไลน์อย่างง่าย แต่หากทำตามทุกขั้นตอนอย่างเป็นระบบก็จะทำให้คุณไม่ต้องปวดหัวกับการจัดการภาษี และสามารถชำระภาษีได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

การวางแผนภาษีสำหรับธุรกิจออนไลน์เป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของธุรกิจไม่ควรละเลย เพราะจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายโดยที่ไม่ต้องเสียภาษีมากเกินจำเป็น ซึ่งหลายคนมักเข้าใจในทางผิด ๆ ว่าการวางแผนภาษีเป็นเรื่องของการหาทางหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย แต่เป็นการวางแผนเพื่อการจ่ายภาษีอย่างเป็นระบบ และใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทางด้านภาษีอย่างเต็มที่ โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกประเภทของกิจการที่เหมาะสมเพื่อจะได้เสียภาษีเงินได้ตามประเภทของธุรกิจ และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีก็จะต้องจดทะเบียนเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

เจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องรู้ว่าตนเองจะต้องเสียภาษีแบบไหน และต้องนำส่งภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เพราะการเสียภาษีเป็นหน้าที่สำคัญที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ หากหลีกเลี่ยงการเสียภาษีหรือชำระภาษีไม่ถูกต้องแล้วก็จะทำให้ถูกปรับและต้องจ่ายภาษีเพิ่มมากกว่าเดิมได้ สำหรับเจ้าของธุรกิจออนไลน์ที่กำลังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวางแผนด้านภาษี ลองเข้ามาติดต่อสอบถามกับ Scholar Accounting  เพื่อรับคำปรึกษาและคำแนะนำดี ๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำบัญชี รับรองว่าคุณจะได้ข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับการวางแผนด้านภาษีเพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจออนไลน์ของคุณได้อย่างแน่นอน