“ป้าย” คืออะไร
สิ่งที่เราต้องรู้เป็นอย่างแรก คือความหมายของป้าย ตามที่กฎหมายกำหมดไว้ ซึ่งป้ายในที่นี้ หมายความว่า ป้ายที่ปรากฏ ชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายทางการค้า สำหรับการประกอบกิจการ การทำการค้าหรือโฆษณาเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของตัวอักษร ภาพ หรือสัญลักษณ์ บนวัสดุใดๆ ก็ตาม ด้วยการเขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีการอื่นๆ ก็ตาม
รวมถึงป้ายแบบ ไตรวิชั่น (Trivision) ซึ่งเป็นภาพที่สามารถแสดงภาพโฆษณาได้ 3 ภาพต่อหนึ่งพื้นที่โฆษณา ด้วยการหมุนเปลี่ยนภาพของแท่งทรงสามเหลี่ยม (Prism) ด้วยระบบมอร์เตอร์
ป้าย แบบไหนบ้าง ที่ได้รับการ “ยกเว้น” ภาษีป้าย
ป้ายที่ได้รับการยกเว้นภาษีป้าย มีอยู่หลากหลายประเภทด้วยกัน ทั้งจาก พ.ร.บ.ภาษีป้ายปี พ.ศ.2510 และฉบับที่ 2 ปี พ.ศ.2535
- ป้าย ที่ติดอยู่กับสินค้า บรรจุภัณฑ์สินค้า ติดไว้ที่คน และป้ายที่ติดไว้ที่สัตว์
- ป้าย ที่ติดอยู่ภายในตัวอาคาร หรือพื้นที่ส่วนตัว แต่ต้องมีขนาดไม่เกิดตามที่กำหมด
- ป้าย ที่ติดอยู่หน้าโรงมหรสพ เพื่อโฆษณามหรสพนั้นๆ และป้าย ที่ติดบริเวณงานที่จัดขึ้นชั่วคราว
- ป้าย ของหน่วยงานราชการ หน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาล ป้ายวัด และป้ายมูลนิธิ
- ป้าย ของธนาคารบางแห่ง และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- ป้าย ของโรงและและสถาบันอุดศึกษาเอกชน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณโรงและและสถาบันอุดศึกษาเอกชนนั้นๆ
- ป้าย ของผู้ประกอบการเกษตร ที่เป็นผลผลิตจากการเกษตรของตนเอง
- ป้าย ที่มีลักษณะเป็นล้อเลื่อน หรือติดอยู่กับรถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนตร์ รถบดถนน หรือรถแทรกเตอร์ รวมถึงยานพาหนะอื่นๆ ที่มีพื้นที่โฆษณาไม่เกิน 500 ตารางเซนติเมตร
อัตราในการคำนวณภาษีป้าย
การคำนวณภาษีป้าย คิดจากพื้นที่ป้ายเป็นตารางเซนติเมตร โดยป้ายที่มีขอบเขตป้ายชัดเจน ให้ใช้ด้านกว้างสุด x ด้านยาวสุด ส่วนป้ายที่กำหนดขอบเขตไม่ชัดเจน ให้นับจากขอบเขตของตัวอักษรที่อยู่ริมสุด อัตราภาษีป้ายแบ่งออกตามลักษณะของสิ่งที่ปรากฏบนแผ่นป้ายเป็น 3 แบบด้วยกัน
- อัตราภาษีป้าย สำหรับป้ายที่มีเฉพาะตัวอักษรภาษาไทยเท่านั้น ให้คิดอัตรา 3 บาท ต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร
- อัตราภาษีป้าย สำหรับป้ายที่มีอักษรภาษาไทยปนกับภาษาต่างประเทศ หรือเครื่องหมายและภาพ และอักษรไทยทั้งหมดต้องอยู่เหนือส่วนอื่น ให้คิดอัตรา 20 บาท ต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร
- อัตราภาษีป้าย สำหรับป้ายที่ไม่มีภาษาไทย ไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายอื่นๆ หรือไม่ และป้ายที่มีภาษาไทยบางส่วน หรืออักษรไทยทั้งหมดอยู่ต่ำกว่าอักษรภาษาต่างประเทศ ให้คิดอัตรา 40 บาท ต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร
*เพิ่มเติมสำหรับป้ายที่ถูกประเมินภาษีป้ายน้อยกว่า 200 บาท ให้ปัดเป็นการจ่ายภาษีป้าย 200 บาท
*พื้นที่ป้ายที่คำนวณได้ หากมีเศษเกินแต่เกินกึ่งหนึ่งของ 500 ตารางเซนติเมตร หรือมีเศษพื้นที่ที่เกิน 250 ตารางเซนติเมตร ให้คิดเป็น 500 ตารางเซนติเมตร
การยื่นแบบประเมินเพื่อเสียภาษีป้าย
เมื่อผู้ประกอบการต้องการติดตั้งป้ายร้าน หรือเจ้าของป้ายอื่นๆ ที่ใช้ป้ายที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีป้าย ก่อนการติดตั้งจะต้องทำการแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ที่สำนักงานเขต เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตั้งป้าย
ช่วงระยะเวลาในการยื่น: จะต้องยื่นประเมินเพื่อเสียภาษีป้ายไม่เกินวันที่ 31 มีนาคมของปีนั้นๆ หากมีการติดตั้งป้าย แก้ไขป้าย หรือเพิ่มป้าย หลังจากวันที่ 31 มีนาคมของปีนั้นๆ ให้ยื่นแบบประเมินภาษีป้ายภายใน 15 วันหลังจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงป้าย
เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นแบบประเมินเพื่อเสียภาษีป้าย (ในกรณีที่เป็นผู้ยื่นใหม่)
- ใบอนุญาตติดตั้งป้าย ใบเสร็จรับเงินค่าทำป้าย
- รูปป้าย พร้อมขนาดกว้าง x สูง
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- บัตรประจำตัวประชาชน
- กรณีเจ้าของป้ายเป็นนิติบุคคลให้แนบหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ทะเบียนพาณิชย์และหลักฐานของสรรพากร เช่น ภ.พ.01, ภ.พ.09, ภ.พ.20
- หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถยื่นแบบได้ด้วยตนเอง พร้อมติดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย)
- แบบเสียภาษีป้าย (ภ.ป.1) สำหรับผู้เสียภาษีป้ายรายเก่า
การชำระเงินภาษีป้าย
เมื่อได้รับหนังสือแจ้งประเมินภาษีป้ายแล้ว ให้ดำเนินการชำระภาษีป้ายภายใน 15 วัน
สถานที่ชำระเงิน: ที่สำนักงานเขต (ฝ่ายรายได้) ที่ธนาคารกรุงไทย ผ่าน ATM ธนาคารกรุงไทย และ Internet Banking ธนาคารกรุงไทย
บทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ภาษีป้าย
- หากแจ้งความ หรือให้การเท็จเพื่อเลี่ยงการเสียภาษีป้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- หากจงใจไม่ยื่นแบบประเมินภาษีป้าย ต้องระวางโทษปรับปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท
- หากไม่เสียภาษีป้ายภายในวันที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับวันละ 100 บาท
- หากไม่แจ้งการรับโอนป้าย หรือไม่แสดงหลักฐานการเสียภาษีป้าย ณ สถานประกอบการค้าหรือสถานประกอบการ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท
สำหรับผู้ประกอบการทั้งหลาย เรื่องภาษีถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความใส่ใจ เพราะนอกเหนือจากภาษีหลักๆ แล้ว หากกิจการใดมีการตั้งป้าย ต้องไม่ลืมที่จะประเมินว่าป้ายของเราเข้าข่ายต้องเสียภาษีหรือไม่ หากต้องเสียภาษีป้าย จะต้องเสียยังไง เท่าไหร่ ที่ไหนด้วยนะคะ เพื่อไม่ให้ถูกปรับเกินจำเป็น จนกลายเป็นรายจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับธุรกิจคุณ ออฟฟิศเมทหวังว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ให้กับหลายๆ คน การทำธุรกิจหากเราดำเนินการเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้อง เชื่อว่าจะเป็นการเซฟเงินได้ดีกว่าการต้องมาเสียค่าปรับและระวางโทษในภายหลังนะคะ
ที่มา: บัญชีภาษี กี่ปีก็ไม่เข้าใจ/ tigersoft.co.th/ bangkok.go.th