นักบัญชีกับนักบัญชีภาษีคนเดียวกันไหม

 

กิจการในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กของคนรุ่นใหม่ มักอาศัยสำนักงานบัญชีและที่ปรึกษาบัญชี เข้ามาช่วยในการวางระบบบัญชี การวางแผนภาษี และการวางแผนบัญชี รวมไปถึงการจัดทำรายงานบัญชีสำหรับผู้บริหารให้กับกิจการกันมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในคำถามยอดฮิตของคนทั่วไปที่มักจะได้ยินอยู่เสมอ นั่นก็คือ “นักบัญชี” กับ “นักบัญชีภาษี” นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร แน่นอนว่านักบัญชีทั้งสองแบบย่อมมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งความแตกต่างที่ว่านี้…จะแตกต่างกันอย่างไรนั้น เราจะมาเจาะลึกถึงรายละเอียดของนักบัญชีทั้งสองแบบนี้กัน

นักบัญชีกับนักบัญชีภาษีเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

เราลองมาเปรียบเทียบนักบัญชีทั้งสองแบบนี้กันดูว่านักบัญชีแต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร

นักบัญชี หมายถึง เจ้าหน้าที่หรือพนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับบัญชี ตั้งแต่เก็บรวบรวมเอกสารและบันทึกรายการตามระบบบัญชี และอาจรวมไปถึงการประสานงานกับพนักงานแผนกอื่น ๆ ที่ทำงานเชื่อมโยงกันในเรื่องที่เกี่ยวกับบัญชี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการกระจายงาน หรือการกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละกิจการด้วย ในบางครั้งแค่บันทึกบัญชีรายวัน ก็ได้ชื่อว่าเป็นนักบัญชีแล้ว

ส่วนนักบัญชีภาษี หมายถึง นักบัญชีที่ทำหน้าที่ครอบคลุมในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษีอากรของกิจการ ซึ่งกฎหมายภาษีที่นักบัญชีภาษีต้องเรียนรู้คือ กฎหมายภาษีตามประมวลรัษฎากร เพราะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของเงินเดือนพนักงาน, การหักภาษี ณ ที่จ่าย, เงินสมทบกองทุน รวมไปถึงต้องยื่นส่งงบการเงินต่อกรมสรรพากรให้ทันตามที่กฎหมายได้ระบุไว้

จะเห็นได้ว่าถ้าพิจารณาในมุมของขอบเขตความรับผิดชอบแล้ว นักบัญชีภาษีจะต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษีอากรของกิจการ แต่นักบัญชีทั่วไปอาจไม่ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องในด้านของภาษีเลยก็ได้

นักบัญชีกับนักบัญชีภาษีควรเป็นคนเดียวกันไหม
เจ้าของกิจการอาจจะสงสัยว่าระหว่างจ้างนักบัญชีคนเดียวทำหน้าที่เป็นทั้งนักบัญชีและนักบัญชีภาษี หรือจ้างแยกกันอย่างไหนดีกว่ากัน แบบไหนคุ้มกว่ากัน แน่นอนว่าทั้งสองแบบนั้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งรูปแบบการจ้างนักบัญชีทั้งสองวิธีนี้มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันอย่างไรบ้างนั้น มาติดตามกัน….

ถ้าเป็นคนเดียวกัน มีข้อดีคือ กิจการประหยัดค่าจ้างและนักบัญชีสามารถบริหารจัดการบัญชีและภาษีไปในทิศทางเดียวกันได้ ส่วนข้อเสียนั้น ได้แก่ ภาวะความกดดันที่อาจเกิดขึ้นกับตัวนักบัญชีเอง เนื่องจากงานล้นมือ รวมถึงงานบางอย่างจำกัดด้วยเวลา เมื่อหันไปทำงานอย่างหนึ่งให้ทัน อาจทำให้ข้ามรายละเอียดงานส่วนอื่นไป ทำให้คุณภาพของผลงานที่ทำออกมามีมาตรฐานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ส่วนข้อดีของการใช้นักบัญชีกับนักบัญชีภาษีเป็นคนละคนก็คือ แต่ละคนได้เอาใจใส่เฉพาะงานที่ตนเองรับผิดชอบ และมุ่งพัฒนาในงานด้านเดียว โอกาสผิดพลาดในการทำงานน้อยลง อีกทั้งการใช้คนสองคนทำงานช่วยตรวจสอบซึ่งกันและกัน จะช่วยให้ผลงานที่ทำออกมามีคุณภาพดี ส่วนข้อเสียก็คือ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ หากทำงานไม่เข้าใจกัน

ทักษะที่จำเป็นต้องมีของนักบัญชีและนักบัญชีภาษี
เมื่อเรื่องของภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจตามข้อบังคับของกฎหมายไทย เจ้าของกิจการเมื่อจ้างพนักงานบัญชีเข้ามาทำบัญชีของกิจการแล้ว มักคาดหวังว่า นักบัญชีจะต้องทำได้ทุกเรื่องที่ทางกิจการต้องการ คือคาดหวังว่า นักบัญชีจะต้องมีความรู้ ความสามารถและมีคุณธรรม ในส่วนของความรู้ความสามารถนั้น เจ้าของกิจการมุ่งหวังว่านักบัญชีต้องมีความรู้ต่อไปนี้

  1. ด้านการบัญชี เรื่องนี้แน่นอนว่า จ้างนักบัญชีก็ต้องหวังเรื่องความรู้ด้านนี้ นักบัญชีจะต้องสามารถทำบัญชีได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน รวมไปถึงประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีได้ ถ้าจ้างที่ปรึกษาบัญชีก็คาดหวังว่าจะทำงานเป็นที่ปรึกษาได้ดีในการรักษาผลประโยชน์ของกิจการให้ได้มากที่สุด
  2. ด้านคอมพิวเตอร์ เนื่องจากปัจจุบันการบันทึกบัญชีมักใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางบัญชีเข้ามาช่วย ผู้จ้างจึงคาดหวังว่านักบัญชีที่จ้างมาจะสามารถทำงานตามโปรแกรมที่ทางกิจการมีได้อย่างราบรื่น รวมถึงหากจะต้องปรับเพิ่มในอนาคตก็สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้
  3. ความรู้ทางด้านภาษีอากร กิจการที่เป็นนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย เจ้าของกิจการมักคาดหวังว่านักบัญชีจะต้องสามารถรับภาระในเรื่องของการติดต่อชำระภาษีได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายระบุไว้ เพื่อไม่ให้โดนค่าปรับย้อนหลัง
  4. ความรู้ความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ ถ้าให้เลือกระหว่างนักบัญชีที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษอย่างดีกับคนที่ได้เฉพาะภาษาไทย แน่นอนว่า เจ้าของกิจการต้องเลือกคนที่รู้หลายภาษา เพราะหากจำเป็นต้องใช้ก็ไม่ต้องอาศัยล่ามที่อาจทำให้การสื่อสารไม่ชัดเจนเพราะความรู้ด้านบัญชีเป็นความรู้เฉพาะทาง มีศัพท์เทคนิคเฉพาะอยู่มากมาย

ดังนั้น การจะสรุปว่านักบัญชีและนักบัญชีภาษีควรเป็นคนเดียวกันหรือไม่ จึงควรขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่าง ๆ  เช่น ขนาดของกิจการ ปริมาณงาน และความสามารถของพนักงานบัญชีนั่นเอง ในโอกาสหน้าหากเราไปเจอข้อมูลหรือความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวของวงการบัญชีเช่นนี้อีก ทาง Scholar Accounting ก็จะหยิบมาทำเป็นสรุปแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ มาให้อ่านกันอย่างแน่นอน