ในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินของธุรกิจประเภทต่าง ๆ มักจะเจอกับปัญหาใหญ่ที่ทำให้การขอกู้จากธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ได้รับการพิจารณา นั่นก็คือ “การมีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ” แม้จะมีการวางแผนธุรกิจ หรือการจัดวางระบบบัญชีของธุรกิจ จนทำให้มีข้อมูลของผลประกอบการที่แสดงให้เห็นว่ามีผลกำไรในการดำเนินงานเสนอต่อสถาบันการเงินอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ไม่สามารถได้รับการพิจารณาอนุมัติได้ ปัญหานี้มีแนวทางแก้ไขหรือไม่อย่างไร เรามาติดตามกัน…
หลักทรัพย์ค้ำประกัน คืออะไร
ก่อนอื่นผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจก่อนว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันคืออะไร เนื่องจากหลักทรัพย์ที่สถาบันการเงินหรือธนาคารต่าง ๆ ใช้เป็นหลักค้ำประกันเงินกู้มีหลายประเภท รวมทั้งเงื่อนไขในการใช้หลักค้ำประกันอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินนั้น ๆ และขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อหรือวงเงินที่ผู้กู้ต้องการ
สำหรับความหมายของหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือสินทรัพย์ค้ำประกัน หมายถึง ทรัพย์สินซึ่งมีมูลค่าที่ลูกหนี้หรือผู้ประกอบการนำมาใช้ค้ำประกัน เพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ให้แก่สถาบันการเงิน โดยผู้ขอสินเชื่อต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ๆ ซึ่งอาจเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคาร บ้านเรือน หรือสินทรัพย์ประเภทสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ รถยนต์ เป็นต้น
ความสำคัญและบทบาทของหลักทรัพย์ค้ำประกัน
หลักทรัพย์ค้ำประกันไม่ได้มีความสำคัญหรือมีบทบาทเฉพาะใช้ค้ำประกันวงเงินกู้กับสถาบันการเงินเท่านั้น แต่ยังแก้ปัญหาของการทำบัญชีทำให้การบริหารธุรกิจเกิดสภาพคล่อง เช่น การให้สินเชื่อแก่ลูกค้าโดยนำหลักทรัพย์มาเป็นหลักค้ำประกัน ในส่วนของการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ให้กับสถาบันการเงิน นอกจากเป็นการสร้างความมั่นใจและสร้างความน่าเชื่อถือของผู้กู้แก่สถาบันการเงินแล้ว สินเชื่อมีหลักประกันหรือ Secured loans ยังเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า เมื่อเทียบกับสินเชื่อแบบที่ไม่มีหลักประกัน องค์กรธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่มีการวางแผนธุรกิจไว้อย่างเป็นระบบ จะขอสินเชื่อที่มีหลักประกันซึ่งเป็นสินเชื่อระยะยาว เพื่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน เช่น ง่ายและสะดวกต่อการขยายธุรกิจ, ทำให้เกิดสภาพคล่องในการดำเนินงาน และเสียดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำ
อะไร ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้บ้าง
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักธุรกิจมือใหม่จะเข้าใจว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ประเภท ที่ดิน อาคาร หรือใช้บุคคลค้ำประกัน แต่ในรายละเอียดและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับหลักทรัพย์ค้ำประกันของธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ สามารถใช้ได้ทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ แต่ต้องเป็นตามเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนด เช่น
- อสังหาริมทรัพย์ เช่น อาคาร บ้านที่พักอาศัย โฉนดที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
- รถยนต์หรือเครื่องจักร
- ใช้หลักทรัพย์ที่เป็นเงินฝากประเภทใดประเภทหนึ่งที่มีอยู่กับธนาคารเป็นหลักค้ำประกัน
- พันธบัตรทั้งของรัฐบาลและเอกชน
- หน่วยลงทุนของกองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน Bond หรือตั๋วเงินคลัง
- หลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาด เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หรือตราสารหนี้
ต้องทำอย่างไร หากหลักค้ำประกันไม่พอ
ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการในการยื่นกู้แบงค์หรือทำเรื่องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ก็คือหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอกับวงเงินกู้ที่ต้องการ แม้การวางแผนธุรกิจจะประสบความสำเร็จ ผลการดำเนินงานมีกำไร สิ่งนี้จะบ่งบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลตัวเลขได้จากการเตรียมเอกสารเพื่อทำงบการเงินประจำปี แต่เนื่องจากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนดไว้ การยื่นขอกู้สินเชื่อจึงไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติ
กรณีนี้ ควรทำอย่างไรเมื่อหลักค้ำประกันไม่พอ เมื่อผู้ประกอบการได้ศึกษาความหมาย ความสำคัญและบทบาทของหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมทั้งทราบว่าอะไรใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้บ้าง ก็จะทำให้ทราบแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยสอบถามหรือตรวจสอบรายละเอียดกับสถาบันการเงิน เพื่อหาหลักทรัพย์ค้ำประกันมาเสริม เช่น ใช้บุคคลค้ำประกันเพิ่ม ใช้เงินฝากที่มีอยู่ในบัญชีธนาคาร หรือใช้พันธบัตรและหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้ว เป็นหลักประกันเสริมเพื่อให้เพียงพอกับวงเงินที่ผู้กู้ต้องการและเป็นไปตามเงื่อนไขของสถาบันการเงิน โอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อก็เป็นไปได้มาก
การยื่นกู้หรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เป็นการวางแผนธุรกิจที่ถือเป็นเรื่องปกติของทุกการลงทุน แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้การยื่นกู้ประสบความสำเร็จได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามวงเงินที่ต้องการ ก็คือองค์กรธุรกิจควรมีข้อมูลเตรียมพร้อมก่อนไปขอสินเชื่อ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการจัดทำบัญชีสำหรับผู้บริหาร ซึ่งสามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่วางแผนและจัดเตรียมเอกสารและจัดหาหลักทรัพย์ค้ำประกันให้เพียงพอกับวงเงินกู้ที่ต้องการ
บทความนี้น่าจะทำให้เจ้าของกิจการหลาย ๆ คนเข้าใจแล้วว่าต้องทำอย่างไร หากหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอในการขอสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่ต้องการความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมก่อนไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ลองเข้ามาติดต่อสอบถามกับทีมงานของ Scholar Accounting กันดูก่อน รับรองว่าคุณจะได้รับความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน