ข้อควรรู้ก่อนเริ่มหาบริษัทวางแผนภาษี

หากพิจารณาฐานข้อมูลภาษีกรมสรรพากร ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2560 หรือปีภาษี 2558 นั้นพบว่ามีผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจโดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่ประกอบกิจการในรูปของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ยื่น ภ.ง.ด.50) และกลุ่มที่ประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา (ยื่น ภ.ง.ด.90) อยู่ในระบบภาษีเพียง 2.09 ล้านรายเท่านั้น ถือเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อภาษีอากร รวมไปถึงการวางระบบบัญชีเพื่อให้การบริหารบัญชีและวางแผนภาษีอากรถูกต้องสอดคล้องกัน อาจจะด้วยเพราะเรื่องภาษีอากรเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจกังวลใจ

ภาษีหลักๆ ที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจจะต้องรู้จักและเข้าใจเป็นอย่างดีประกอบไปด้วย 8 ภาษี ดังนี้

1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล : ผู้ที่ต้องชำระคือนิติบุคคลตามมาตร 39 ซึ่งมีเงินได้พึงประเมินและมีหน้าที่เสียภาษีทุกรอบระยะเวลาบัญชี โดยจะต้องทำการปรับปรุงรายจ่ายตามงบการเงินให้เป็นรายจ่ายทางภาษี วิธีการคำนวณภาษีคือ กำไรสุทธิคูณด้วยอัตราภาษี จะได้ผลลัพธ์เป็นภาษีเงินได้

(กำไรสุทธิ X อัตราภาษี = ภาษีเงินได้)

  • อัตราภาษีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล คิดภาษีร้อยละ 20
  • อัตราภาษีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คิดเป็นกำไรสุทธิ หากน้อยกว่า 300,000 บาท จะได้รับการยกเว้น และตั้งแต่ 300,000 – 1,000,000 คิดเป็นร้อยละ 15 หรือ 1,000,000 ขึ้นไป ร้อยละ 20

2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม : ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี , ผู้ประกอบกิจการที่ต้องมีการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่อยู่บังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการที่อยู่นอกประเทศไทยและได้ขายสินค้าหรือให้บริการภายในประเทศเป็นปกติหรือมีตัวแทนอยู่ในประเทศไทย โดยมีวิธีการการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม คือการจ่ายร้อยละ 7 ของราคาสินค้า ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจจะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปไม่ว่าเดือนนั้นจะมีรายรับหรือไม่ก็ตาม

3.ภาษีธุรกิจเฉพาะ :  เป็นภาษีที่ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีทุกเดือน โดยกิจการที่ต้องเสียภาษีคือกิจการธนาคาร ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ , กิจการรับประกันชีวิต , กิจการโรงจำนำ , การค้าอสังหาริมทรัพย์ , การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์และการซื้อขายคืนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงธุรกิจแฟ็กเตอริง โดยมีอัตราภาษีที่แตกต่างกันไปตามกิจการ

4.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน : เป็นภาษีเฉพาะทรัพย์สินที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร สำหรับทรัพย์สินที่อยู่ในต่างจังหวัดต้องติดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อยื่นชำระภาษีได้  สำหรับผู้ที่ต้องเสียภาษีประเภทนี้คือเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง โดยการยื่นแบบเพื่อขอประเมินภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีที่สำนักงานเขตหรือสำนักการคลัง

5.ภาษีสรรพสามิต  : ประกอบด้วยภาษีน้ำมัน อัตราภาษีขึ้นอยู่กับชนิดน้ำมัน โดยโครงสร้างราคาน้ำมันขึ้นอยู่กับแนวนโยบายการบริหารภาษี หรือนโยบายพลังงานของภาครัฐ

6.ภาษีรถ : หากกิจการดังกล่าวมีการใช้รถบรรทุกขนาดกลางขึ้นไปในการขนส่งสินค้า โดยมีน้ำหนัก 15,300 กิโลกรัมเมื่อบรรทุกสินค้า เจ้าของรถยนต์มีหน้าที่เสียภาษีรถประจำทุกปีซึ่งคิดตามน้ำหนักรถยนต์ ส่วนเอกสารประกอบการยื่นชำระได้แก่ หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถหรือสำเนา หลักฐานการจัดให้มีประกันภัย และรถขนส่งทุกประเภทต้องผ่านการตรวจสภาพก่อนเสียภาษี โดยต้องยื่นชำระภาษีภายในระยะเวลไม่เกิน 90 วัน ก่อนสิ้นอายุภาษี

7.เงินสมทบกองทุนประกันสังคม : สำหรับนายจ้างที่มีลูกจ้างต้องมีการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยนายจ้างมีหน้าที่นำส่งสมทบทั้งส่วนของนายจ้างและลูกจ้างภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป สำหรับฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบ ต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท

8.เงินสมทบกองทุนเงินทดแทน : สำหรับกิจการที่มีลูกจ้างตามที่กำหนด นายจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ภายในวันที่ 31 มกราคมของทุกปี คิดร้อยละ 0.2 – 1.0 ของค่าจ้าง ฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบต้องไม่เกิน 240,000 บาทต่อคนต่อปี ผู้ประกอบการต้องส่งเงินสมทบและรายงานค่าจ้างปีที่ผ่านมาภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์

ทั้งนี้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจควรศึกษาความรู้ความเข้าใจเรื่องกรวางแผนภาษีและการชำระภาษีให้ดีและถูกต้อง เนื่องจากหากละเลยการชำระภาษีเป็นเวลานานจะถูกตรวจสอบและมีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเป็นจำนวนมาก อาจทำให้เสียชื่อเสียงในด้านความรับผิดชอบอีกด้วย ซึ่งเรื่องภาษีอากรไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายบัญชีเพียงฝ่ายเดียว หากแต่เป็นความรับผิดชอบของทุกคนในกิจการที่ได้ร่วมกันบริหารงานของกิจการ เพราะปัญหานี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในทุกแผนก เช่น ฝ่ายบัญชีและการเงิน , ฝ่ายการตลาด , ฝ่ายบุคคล , ฝ่ายผลิต , ฝ่ายจัดซื้อ เป็นต้น รวมถึงทุกระดับการบริหารงานด้วย ไม่ว่าจะเป็น CEO หรือฝ่ายกฎหมายด้วย จึงต้องมีการปรึกษาและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน เพื่อป้องกันปัญหาทางภาษีอากรที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

วิธีการหนึ่งที่ช่วยป้องกันหรือลดทอนปัญหาข้อผิดพลาดที่นิยมในปัจจุบันและใช้ได้ผลเป็นอย่างดีก็คือ การใช้บริการจากบริษัทที่ปรึกษาและวางแผนภาษีให้เข้ามาดูแลเกี่ยวกับบัญชีและภาษีอากร เพราะบริการจากบริษัทวางแผนภาษีนั้นสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจตัดสินใจเลือกปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง เป็นการลดความเสี่ยงทางภาษี (tax exposure) ทำให้ประหยัดภาษีมากที่สุดตามกรอบข้อกฎหมายของกรมสรรพากร นั่นเพราะการเสียภาษีโดยมีการวางแผนภาษีที่ดีสามารถประหยัดภาษีกว่าการยื่นแบบโดยไม่มีความรู้หรือยื่นผิดพลาด ซึ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นอาจทำให้ถูกออกหนังสือเชิญพบ หรือหมายเรียก มีโอกาสถูกประเมินภาษีเพิ่ม เบี้ยปรับเพิ่ม และจ่ายเงินเพิ่มจำนวนมาก หากเกิดกรณีนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของบริษัท

นอกจากนี้แล้วการใช้บริการจากบริษัทที่ปรึกษาและวางแผนภาษียังมีข้อดีก็คือ ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจได้ทราบข้อมูลทางการเงินจากการบันทึกบัญชีอย่างถูกต้องและครบถ้วน ทำให้การยื่นภาษีเป็นไปตามรอบระยะเวลาในปฏิทินภาษี โดยที่ผู้ประกอบกิจการหรือเจ้าของธุรกิจไม่ต้องการกังวลในการยื่นแบบภาษีประเภทต่างๆ เพื่อใช้ในการคาดคะเนในการบริหารจัดการกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่บริษัทไม่มีการวางระบบบัญชีที่มีมาตราฐานและไม่มีความรู้ในเรื่องบัญชีที่ดีพอย่อมทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต และส่งผลกระทบระยะยาวต่อการดำเนินงานต่างๆ

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจควรรู้ก่อนตัดสินใจเลือกบริษัทวางแผนภาษีก็คือ การเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเรื่องบัญชี เพราะเป็นการบ่งบอกว่าบริษัทนั้นๆ จะรู้วิธีการในการตัดสินใจว่าควรแก้ไขปัญหาหรือรับมือกับปัญหาของลูกค้าได้อย่างไรและเหมาะสมที่สุด ที่สำคัญ บริษัทวางแผนภาษีจะต้องเป็นเสมือนเพื่อนคู่คิดจึงจะทำให้ผู้ประกอบการวางแผนธุรกิจเพื่อเดินต่อไปข้างหน้าโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังใดๆ เพราะบริษัทวางแผนภาษีที่ดีจะต้องทำการแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีตที่เคยเกิดขึ้นได้ และทำให้ปัจจุบันดำเนินการเรื่องภาษีอากรไปอย่างถูกต้อง สามารถนำผลการวางแผนที่ดีนั้นไปใช้ในอนาคตได้ ซึ่งมีสถิติอ้างอิงที่น่าสนใจที่พบว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้บริการจากบริษัทวางแผนภาษีนั้นไม่เกิน 10% ของภาษีที่ประหยัดได้ (tax savings from tax planning & compliance) จึงจะเรียกว่าเกิดความคุ้มค่าในการจ้างที่ปรึกษาภาษี

สิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงก็คือ ผู้วางแผนภาษีอากรจะต้องมีความรู้ทั้งทางด้านภาษีอากรและบัญชี เพื่อให้การวางแผนภาษีอากรกับการจัดทำบัญชีถูกต้องและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กิจการตั้งเอาไว้ ปกติแล้วการวางแผนภาษีอากรนิยมวางแผนภาษีก่อนเริ่มดำเนินกิจการ หรืออาจจะวางแผนภาษีอากรเมื่อกิจการได้ดำเนินงานไปได้ในระยะหนึ่ง หรือเลือกที่จะวางแผนภาษีสำหรับต้นปีบัญชี (รอบระยะเวลาบัญชี) เพื่อให้การปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง แม่นยำ ลดข้อผิดพลาดได้เป็นอย่างดี  เพราะการวางระบบบัญชีที่ดีย่อมส่งผลที่ดีต่อแผนธุรกิจตามไปด้วย