ขั้นตอน, การเตรียมตัว และข้อควรระวังในการปิดกิจการ

การมีกิจการที่ประสบความสำเร็จถือเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ของผู้ประกอบการทุกคน แต่พอได้มาทำจริง ๆ แล้วเจ้าของธุรกิจหลาย ๆ คนกลับพบกับอุปสรรคต่าง ๆ มากมายจนถึงขั้นไปไม่รอดต้องปิดกิจการลง ซึ่งก่อนที่จะปิดกิจการได้อย่างสมบูรณ์แบบนั้น เจ้าของกิจการจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเสียก่อนว่า การปิดกิจการนั้นมีขั้นตอนและการเตรียมตัว รวมถึงข้อควรระวังอย่างไรบ้าง? เราจึงขอแนะนำให้ลองมาติดตามอ่านบทความนี้กันดู ซึ่งหลังจากที่ได้อ่านบทความนี้จบแล้ว ผู้อ่านจะเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ จนสามารถปิดกิจการของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แบบและถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนดำเนินการขอปิดกิจการ

ในช่วงแรกนี้ เรามาดูสิ่งที่จะต้องเตรียมให้พร้อมก่อนจะเริ่มต้นทำเรื่องขอปิดกิจการกันก่อนเลย ถึงแม้จะดูไม่มีอะไรแต่เราขอแนะนำให้ผู้ประกอบการเตรียมทั้ง 5 อย่างนี้ให้พร้อมก่อนที่จะเริ่มต้นดำเนินการปิดกิจการ ซึ่งการเตรียมตัวที่ดีจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้างนั้น มาติดตามกัน…

  1. เตรียมจัดประชุมเลิกกิจการ ซึ่งก่อนการประชุมจะต้องมีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งจดหมายเชิญประชุมไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน เพื่อขอความคิดเห็นและลงมติเห็นชอบในการขอยกเลิกกิจการ
  2. เตรียมการจดทะเบียนเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจและการค้าตามวิธีการที่กำหนดไว้ และเตรียมคืนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภพ.20) ไปให้แก่กรมสรรพากร
  3. การเตรียมเอกสารเพื่อทำงบการเงินรอบสุดท้ายก่อนปิดกิจการ ซึ่งเป็นงบที่ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีรับรองเหมือนงบประจำปี และยื่นชำระภาษีนิติบุคคล ภายใน 150 วัน เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จึงจะไปจดทะเบียนเสร็จชำระบัญชีที่กรมพัฒนาธุรกิจและการค้าได้
  4. เตรียมคืนบัตรผู้เสียภาษีกับกรมสรรพากร เพื่อรับเอกสารรับรองการออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากร
  5. เตรียมเรื่องการขายทรัพย์สิน เคลียร์เรื่องหนี้สินของบริษัททั้งส่วนลูกหนี้ เจ้าหนี้ให้เรียบร้อย สุดท้ายหากมีทรัพย์สินเหลือ ต้องคืนให้ผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนของหุ้นที่ถือไว้

ขั้นตอนในการทำเรื่องขอปิดกิจการ

ในช่วงที่สองนี้ จะเป็นเนื้อหาที่ผู้ประกอบการซึ่งกำลังจะทำเรื่องขอปิดกิจการนั้นให้ความสนใจเป็นพิเศษ นั่นก็คือ ขั้นตอนในการดำเนินการขอปิดกิจการ  ซึ่งวิธีการในการทำเรื่องขอปิดกิจการที่ว่านี้ จะมีขั้นตอนต่าง ๆ อย่างไรบ้างนั้น มาติดตามกัน…

  1. จัดประชุมทำข้อตกลงกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอยกเลิกกิจการ ในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาไม่เกิน 14 วัน ตามที่กฎหมายได้ระบุไว้
  2. จดทะเบียนเลิกกิจการให้สมบูรณ์กับกรมพัฒนาธุรกิจและการค้า หากยังไม่จดทะเบียนเลิกกิจการ ทางกฎหมายจะยังถือว่ามีกิจการอยู่ และบังคับให้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายเสมือนยังประกอบธุรกิจอยู่ต่อไป
  3. ดำเนินการคืนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไปให้กรมสรรพากร ภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้จดทะเบียนเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจและการค้า หลังจากนั้นกรมสรรพากรจะส่งจดหมายมาแจ้งว่าได้ทำการอนุมัติให้กิจการออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
  4. จัดทำงบการเงินในรอบบัญชีที่เลิกกิจการ และส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง
  5. ยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลและงบการเงินที่ได้ถูกตรวจสอบและรับรองความถูกต้องแล้ว ไปให้แก่กรมสรรพากร
  6. จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ที่กรมพัฒนาธุรกิจและการค้า
  7. คืนบัตรผู้เสียภาษีแก่กรมสรรพากร
  8. กรมสรรพากรจะทำเอกสารอนุมัติให้ออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ข้อควรระวังในการปิดกิจการ

เรื่องสุดท้ายในบทความนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ห้ามมองข้ามในช่วงระหว่างดำเนินการปิดกิจการ ซึ่งเรื่องเหล่านั้นก็คือ กฎระเบียบที่มีเงื่อนไขในเรื่องของเวลานั่นเอง ด้านล่างนี้เป็นกฎข้อบังคับที่ผู้ประกอบการควรระมัดระวังในช่วงที่ดำเนินการปิดกิจการ และจะต้องทำให้เสร็จตามช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นจะถูกปรับเงินหรือมีโทษตามที่กฎหมายได้ระบุไว้

  1. การแจ้งเรื่องเรียกประชุมกรรมการ ผู้ถือหุ้น ให้เข้าประชุมเรื่องการปิดกิจการ ต้องแจ้งก่อนจะเริ่มมีการประชุมอย่างน้อย 14 วัน เพื่อป้องกันการตกข่าว หรือถือเป็นข้ออ้างไม่ยอมรับมติที่ชุมกรณีที่ไม่ได้เข้าประชุม เพราะถือว่ารู้แล้ว แต่ไม่ใช้สิทธิ์เองก็ต้องยอมรับในเสียงส่วนใหญ่
  2. การคืนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากรหลังจดทะเบียน จะต้องคืนภายใน 15 วัน หากคืนไม่ทันจะมีค่าปรับ 2000 บาท และยังต้องยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มต่อไปจนกว่าจะได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากร ไม่เช่นนั้นจะถูกตามภาษีย้อนหลังได้ เพราะภาษี เบี้ยปรับ มีอายุความถึง10 ปีเลยทีเดียว
  3. อย่าปิดกิจการโดยวิธีเลิกดำเนินกิจการเฉย ๆ โดยไม่ดำเนินการใด ๆ ในเรื่องปิดกิจการ เพราะจะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาในภายหลัง

เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ประกอบการจะตัดสินใจขอยกเลิกการดำเนินการทางธุรกิจ เมื่อพบว่าผลการดำเนินงานของกิจการไม่เป็นไปตามแผนธุรกิจที่ได้คาดหวังเอาไว้ เช่น ผลประกอบการไม่ดี ทำให้กิจการประสบปัญหา ขาดทุน หรือกิจการมีความเสี่ยงมาก เนื่องจากมีภาระหนี้สินต่าง ๆ มากมาย เป็นต้น  ซึ่งผู้ประกอบการควรจะศึกษากระบวนการต่าง ๆ ของการยกเลิกกิจการให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่ว่าในช่วงของการดำเนินการปิดกิจการจะสามารถทำได้อย่างถูกต้องและไม่มีปัญหาอื่น ๆ ตามมาในภายหลัง สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่ต้องการความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการปิดกิจการ ลองเข้ามาติดต่อสอบถามกับทีมงานที่ปรึกษาบัญชี หรือที่ปรึกษาภาษีของ Scholar Accounting กันดูก่อน รับรองว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน