องค์ประกอบและขั้นตอนการทำแผนธุรกิจ

การวางแผนธุรกิจเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่เปรียบเสมือนกับแผนที่ในการเดินทางที่จะทำให้ธุรกิจมองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนและมีแนวทางขั้นตอนต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมุ่งเน้นที่เป้าหมายและสามารถวางแผนเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นพร้อมทั้งสามารถปรับกลยุทธ์ต่าง ๆ ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อยู่ตลอดเวลา

องค์ประกอบของแผนธุรกิจประกอบไปด้วย

  1. บทสรุปใจความสำคัญของแผนธุรกิจซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่แสดงถึงคุณภาพของแผนโดยรวม โดยจะมีรายละเอียดของแนวคิดของธุรกิจ, โอกาสของธุรกิจ และกลยุทธ์ที่ใช้ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นส่วนที่นำเสนอต่อผู้ร่วมลงทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจอีกด้วย
  2. ประวัติและความเป็นมาโดยย่อของบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลโดยทั่วไปของบริษัท รวมทั้งความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจและเป้าหมายที่บริษัทต้องการให้เป็นในอนาคต
  3. SWOT Analysis เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์และปัจจัยสำคัญ ๆ ต่าง ๆ โดยใช้เครื่องมือ SWOT Analysis ที่ใช้ในการวิเคราะห์ (Strengths), จุดอ่อน (Weaknesses), โอกาส (Opportunities) และ อุปสรรค (Threats) ในการดำเนินธุรกิจ
  4. วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วยเป้าหมายเฉพาะด้าน อย่างเช่น เป้าหมายทางการเงิน, เป้าหมายทางด้านการตลาด และเป้าหมายตามกำหนดระยะเวลาที่ประกอบไปด้วย เป้าหมายระยะสั้น, เป้าหมายระยะกลางและเป้าหมายระยะยาว ซึ่งเป้าหมายของธุรกิจที่ควรเขียนไว้ในแผนธุรกิจ ควรเป็นเป้าหมายที่มีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายได้ สามารถวัดผลได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม และมีเป้าหมายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  5. แผนการตลาด เป็นการกำหนดกลยุทธ์และกิจกรรมทางการตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและนำเสนอสินค้าหรือบริการให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นยอดขาย, ความนิยมในตัวสินค้าหรือบริการ หรือความเชื่อมั่นของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
  6. การจัดการทรัพยากรมนุษย์ ในการประกอบธุรกิจทุกประเภทนั้น คน ถือว่าเป็นกำลังหลักที่มีความสำคัญมากที่สุด ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนจัดหาและจัดสรรกำลังคนให้เหมาะสมกับงานที่ทำ
  7. แผนการผลิตและ/หรือแผนปฏิบัติการ เป็นการวางแผนกระบวนการผลิตและการปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ลดต้นทุนและมีการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในการผลิตอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
  8. แผนการเงิน การดำเนินการทางการเงินของบริษัทมีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วนคือ การหาเงิน, การตัดสินใจเพื่อการลงทุน และการดำเนินงานทางด้านการเงินต่าง ๆ เช่น การซื้อขาย, ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งบริษัทจะต้องมีการวางแผนบัญชี โดยอาจขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาบัญชีเพื่อวางแผนจัดทำงบการเงินและบัญชีสำหรับผู้บริหาร เพื่อให้ทราบกิจกรรมทางการเงินของบริษัทเพื่อประกอบการตัดสินใจดำเนินงาน
  9. แผนการดำเนินงาน โดยต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ในด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วนโดยมีรายละเอียดของการดำเนินงานอย่างชัดเจน ซึ่งในส่วนนี้จะรวมถึงการวางแผนให้ครอบคลุมถึงปัญหาและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างครอบคลุมและครบถ้วน

ขั้นตอนการทำแผนธุรกิจ

การทำแผนธุรกิจนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นเป้าหมายของธุรกิจที่ชัดเจน ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดแนวทางในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งวางแผนการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขั้นตอนในการทำแผนธุรกิจที่ประสบความสำเร็จประกอบไปด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. กำหนดวิสัยทัศน์ของบริษัทให้ชัดเจน เพื่อให้พนักงานและลูกค้าได้คำตอบที่ชัดเจนว่าบริษัทมีเป้าหมายอย่างไร และกำลังขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางไหนเพื่อเป็นการกำหนดเป้าหมายระยะยาวของการทำธุรกิจ
  2. ศึกษาและทำความเข้าใจกับธุรกิจที่กำลังจะทำให้มากที่สุด โดยใช้เครื่องมือ SWOT เพื่อวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน รวมทั้งโอกาสและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจเพื่อใช้ในการคาดการณ์การเจริญเติบโตของธุรกิจ และทำให้สามารถวางแผนกลยุทธ์ได้อย่างเฉียบคมและมีประสิทธิภาพ
  3. กำหนดเป้าหมายระยะสั้นที่สามารถปฏิบัติได้จริงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างต่อเนื่องไปจนถึงเป้าหมายระยะกลางและระยะยาว ซึ่งเป้าหมายควรเป็นเป้าหมาย M.A.R.T (specific, measurable, actionable, reasonable, timely) ซึ่งมีความเฉพาะเจาะจง วัดผลได้ สามารถดำเนินการได้จริง มีความสมเหตุสมผลและทันต่อเวลา
  4. เขียน Action plan หรือแผนปฏิบัติการซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการวางแผนธุรกิจและการพัฒนากลยุทธ์ เพราะแม้ว่าจะมีการวิเคราะห์และวางแผนอย่างดีแค่ไหนก็ตาม แต่หากไม่มีการนำไปปฏิบัติจริง ทุกอย่างที่ทำมาก็ไร้ผล ดังนั้นจึงต้องเขียน Action plan ที่ใช้งานได้ จะต้องง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงและอัพเดท แต่ต้องมีความเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับงานที่คุณกำลังทำ รวมทั้งระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพยากรที่ใช้และวิธีการวัดผล
  5. วางระบบบัญชี โดยปรึกษากับที่ปรึกษาบัญชีที่มีความสามารถและมีประสบการณ์สูง เพราะบริษัทจะต้องมีการวางแผนบัญชีที่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้รู้ถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงและรู้ถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้การวางระบบบัญชีที่ยังมีผลต่อเนื่องไปถึงการคำนวณภาษีที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและไม่มีปัญหาในเรื่องของการยื่นภาษีและได้จ่ายภาษีที่สมเหตุสมผล

การทำแผนธุรกิจเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำขึ้นมาอย่างรอบคอบและมีรายละเอียดที่สำคัญอย่างครบถ้วน เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนและวิเคราะห์ปัจจัยเกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยวัดถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจที่จะลงทุนที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้วางแผนการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและไปได้ถึงเป้าหมายได้อย่างที่ต้องการ

สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่ต้องการความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำแผนธุรกิจ ลองเข้ามาติดต่อสอบถามกับทีมงานของ Scholar Accounting กันดูก่อน รับรองว่าคุณจะได้รับความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน