สิ่งที่ต้องรู้เมื่อเป็นผู้ประกอบการ

  1. เขียนแผนการเงินสำหรับปีแรกของธุรกิจ

    – ตั้งประมาณการยอดขาย รายได้ กำไรและค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น การที่คุณเห็นภาพว่ารายรับ รายจ่ายเป็นอย่างไร จะช่วยให้คุณทราบว่าเงินทุนที่มีสามารถใช้ได้ถึงเมื่อไหร่ ในช่วงแรกๆ คุณควรประมาณการณ์เป็นรายเดือน หรือรายไตรมาส และ นอกจากนี้คุณควรจะมีแผนสำรองในกรณีที่ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ เพื่อที่คุณจะได้เตรียมแผนทางการเงินก่อนที่จะสาย

    ตัวอย่างค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ

    • ค่าธรรมเนียมในการจัดตั้งบริษัท เช่น ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนธุรกิจ การขอออกใบอนุญาต หรือ ใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจเฉพาะ
    • ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสำนักงาน ได้แก่ ค่าเช่าสำนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอินเตอร์เนต ค่าโทรศัพท์ รวมไปถึง ค่าอุปกรณ์สำนักงาน เช่น คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ
    • ค่าใช้จ่ายทางการเงิน เช่น ดอกเบี้ยจากเงินกู้
    • ค่าใช้จ่ายทางการตลาด
    • ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพยากรบุคคล เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าจ้างพนักงาน outsource

    ทั้งนี้ แต่ละกิจการมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นไม่เหมือนกัน โดยจะขึ้นอยู่กับประเภทกิจการ

  2. เตรียมรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิด

    ธุรกิจ SME ใหม่นั้นยังมีความเสี่ยงเพราะยังไม่สามารถคาดคะเนถึงผลประกอบการที่จะเกิดขึ้นจริงได้ รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมืองและภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจส่งผลโดยตรง ตัวอย่างเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น พนักงานที่เราฝึกฝนมาอย่างดีลาออกกลางคัน บริษัทที่รับผลิตส่งสินค้าล่าช้า เนื่องจากเกิดพายุเข้า เป็นต้น เจ้าของกิจการต้องรู้จักรับมือกับปัญหาเหล่านี้

  3. กระจายความเสี่ยงด้วยการหาลูกค้าหลายๆ ราย

    ถ้าหากว่าธุรกิจของคุณนั้นขึ้นอยู่กับลูกค้าเพียงไม่กี่คน ก็เท่ากับว่าคุณกำลังเสี่ยงที่จะทำให้รายได้และกำไรของคุณขึ้นอยู่กับคนเพียงกลุ่มเดียว จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากคนกลุ่มนี้เลือกคู่แข่งของคุณแทน ดังนั้นคุณจึงควรระวังอย่าให้ลูกค้าหนึ่งเจ้าสร้างรายได้ให้คุณมากกว่า 10% ของรายได้ทั้งหมดของคุณ

  4. อย่าพึ่งผู้ผลิต/ซัพพลายเออร์ เพียงแค่เจ้าเดียว

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากผู้ผลิตของคุณก็ยังเป็นธุรกิจเล็กอยู่เช่นกัน คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเมื่อไหร่ที่ของที่ถูกส่งมาจะดีเลย์ หรือ แผนการผลิตอาจจะติดขัดขึ้นมา คุณควรจะมีผู้ผลิตสำรองในกรณีที่สินค้าไม่สามารถมาตรงเวลาได้ แต่ถ้าหากมันเป็นไปไม่ได้ ก็ลองสื่อสารตรงๆ กับลูกค้าของคุณว่าสินค้าจะดีเลย์และเตรียมการที่รับมือกับความไม่พอใจที่อาจเกิดขึ้น

  5. อย่าปล่อยให้เงินสดขาดมือ

    แม้จะเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ดี แต่ผู้ประกอบการใหม่จำนวนมากไม่รู้ตัวว่าธุรกิจของพวกเขาอาจล้มได้เลย ถ้าหากวันหนึ่งพวกเขาไม่มีเงินสดเหลือพอ ลองนึกภาพตามง่ายๆ สมมติว่าคุณขาดเงินสดในวันที่คุณต้องจ่ายเงินเดือน คุณอาจจะจ่ายเงินเดือนพนักงานไปช้า 1-2 วัน แต่ผลที่เกิดขึ้นแม้จะเพียงแค่ครั้งเดียว คุณอาจจะเสี่ยงที่จะสูญเสียความเชื่อถือไว้ใจจากพนักงานและพนักงานไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าเลย

  6. บริหารสภาพคล่องของคุณ

    คุณควรจะรู้เสมอว่ามีเงินหมุนเข้ามาและออกไปเท่าไหร่ในธุรกิจของคุณ คุณมีหน้าที่บริหารให้มันเป็นบวกอยู่เสมอ มีหลายสิ่งที่คุณควรจะต้องพิจารณา ตัวอย่างเช่น ช่วงเวลานี้ของปีเป็นช่วงทำเงินของธุรกิจคุณหรือไม่ (ช่วงใดบ้างที่คุณจะได้รับเงินสดเข้ามาหรือช่วงใดบ้างที่คุณจะขาดเงินสด) เมื่อไหร่จะถึงวันที่คุณต้องจ่ายบิลต่างๆ ลูกค้าของคุณมีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินตรงเวลาแค่ไหน เรายังคงยืนยันเช่นเดิมจากที่กล่าวไปในข้อ 2 คุณควรจะมีแผนสำรองอยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจยังไปต่อได้ในวันที่ไม่มีอะไรเป็นดั่งใจ

  7. รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า

    วิธีนี้สามารถปรับใช้ได้หมดกับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือซัพพลายเออร์ อย่างไรก็ตามถ้าลูกค้าที่ซื้อของไม่พึงพอใจกับสินค้าเลย ก็ส่งผลให้ธุรกิจของคุณแย่ลงอย่างรวดเร็ว ถ้ามีอะไรที่ผิดพลาดในการมอบสินค้าหรือบริการ ก็ควรมีข้อรับมือต่างๆที่จะช่วยรักษาความพึงพอใจของลูกค้าไว้ทันที ไม่ว่าจะเป็นการให้ส่วนลด ให้สินค้าฟรี หรือบริการคืนเงิน

  8. อย่ากลัวที่จะขอคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือ

    ปล่อยวางอีโก้ลงและมองหาโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือเจ้าของกิจการที่มีประสบการณ์กว่าสิบปีก็ตาม คุณอาจจะลองพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าของธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกัน ทุกวันนี้มีช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่าย และยังมีสัมมนาต่างๆที่คุณสามารถเข้าร่วมเพื่อนำไปปรับใช้ในธุรกิจ

  9. เตรียมพร้อมสำหรับโอกาสและการเปลี่ยนแปลง

    หนึ่งในข้อดีที่สุดของการเป็นธุรกิจขนาดเล็กคือ ความว่องไว/คล่องตัว เทียบกับธุรกิจใหญ่ที่เคลื่อนตัวได้ช้ากว่ามาก อีกทั้งในวันที่โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้ การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะยิ่งเพิ่มความสามารถในการผลิตหรือกระจายสินค้าได้อีก ยกตัวอย่าง เช่น ธุรกิจขายเสื้อผ้าออนไลน์ที่ทำให้ไม่ต้องขายผ่านหน้าร้าน แต่ก็มียอดขายเทียบเท่าหรือมากกว่าร้านค้าที่มีหน้าร้าน หรือธุรกิจเกี่ยวกับสัมมนาออนไลน์ที่ใช้การผลิตเพียงแค่ครั้งเดียวแต่ก็สามารถขายสินค้าได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

  10. เริ่มต้นสร้างเครดิตทางธุรกิจตั้งแต่วันนี้

    ผู้ประกอบการจำนวนมากอาจจะยังไม่เห็นความสำคัญว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณจะต้องการเงินทุนเพื่อสร้างให้ธุรกิจเติบโต ดังนั้นคุณควรจะเริ่มสร้างเครดิตทางธุรกิจไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อที่เมื่อถึงเวลาที่คุณจะขอสินเชื่อทางธุรกิจ คุณจะมั่นใจได้ว่าคุณเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว